กลโกง 8 ขั้น ที่โคตรมั่ว พูดแบบมั่ว ก็เชื่อแบบมั่ว

บทวิเคราะห์ที่แสนมั่ว ก็จะได้เนื้อหาแบบมั่วๆ



ปตท. ได้สรุปข้อมูลชี้แจงข่าวลือ กลโกง 8 ขั้น ที่มีการส่งต่อกันในโซเชียลมีเดียที่ระบุหัวข้อว่า กลโกง 8 ขั้นของ ปตท. โดย ปตท. ได้สรุปข้อเท็จจริงตอบคำถาม 8 ข้อ ดังนี้

ข้อที่ 1 ประเทศไทยมีการกลั่นน้ำมันรวมประมาณวันละ 1 ล้านบาร์เรล แบ่งเป็นน้ำมันในประเทศ 20% อีก 80% ที่เหลือนำเข้าจากต่างประเทศ การคำนวณราคาจึงคำนวณตามต้นทุนจริง

ข้อที่ 2 ข้อโจมตีที่ว่า ปตท. มีกำไรหน้าโรงกลั่นสูงถึงลิตรละ 5-6 บาทนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะตัวเลขดังกล่าว อ้างอิงตามส่วนต่างค่าการกลั่น (Refining Margin) ไม่ใช่ตัวกำไร แต่เป็นตัวเลขเปรียบเทียบราคาขายกับราคาต้นทุนหน้าโรงกลั่น ที่ยังไม่นับรวมต้นทุนอื่นๆ ที่ ปตท. ต้องจ่ายอีก เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าตอบแทนผู้บริหาร และค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักร เป็นต้น

ข้อที่ 3 เป็นข้อกล่าวหาที่เป็นความเท็จโดยสิ้นเชิง เพราะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกองทุนของรัฐ จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ปตท.และบริษัทผู้ค้าน้ำมันอื่นๆ มีหน้าที่เก็บเงินจากลูกค้าแล้วนำส่งเข้ารัฐ ไม่ได้นำไปเก็บไว้เป็นรายได้ และกำไรของบริษัทเอกชนแต่อย่างใด

ข้อที่ 4 เป็นเท็จโดยสิ้นเชิง เพราะปัจจุบันราคาแอลพีจี ในตลาดโลกอยู่ที่ตันละประมาณ 800 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ในประเทศไทยภาครัฐตรึงราคาไว้ที่ตันละ 333 เหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น

ข้อที่ 5 ประเทศไทยขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในประเทศขึ้นมาได้ประมาณ 75-80% ของความต้องการใช้งาน อีก 20-25% จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ปตท.มิได้ตั้งเป้านำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ เพื่อคิดราคาแพงจากคนไทย

ข้อที่ 6 เป็นข้อโจมตีที่เป็นความเท็จ เพราะน้ำมันเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต้องการ จึงย่อมไม่มีเจ้าของน้ำมันรายใด ที่จะยอมให้ราคาคงที่ไปตลอด 10 ปี อย่างแน่นอน ตัวอย่าง คือ การรวมตัวกันของกลุ่มประเทศผู้ค้าน้ำมัน (โอเปก) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อกำหนดราคาน้ำมันสูง ย่อมเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดี

ข้อที่ 7 การนำเงินไปลงทุนในเกาะเคย์แมน เพื่อการฟอกเงิน ไม่เป็นจริง เพราะหากมีจริง จะต้องมีการตรวจสอบพบอย่างแน่นอน เนื่องจากทุกปี ปตท. ถูกตรวจสอบอย่างน้อยจาก 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และถูกตรวจสอบโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

ข้อที่ 8 ค่าผ่านท่อก๊าซ ถูกกำหนดโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกกูเลเตอร์) มิใช่ ปตท. ทั้งนี้ ปตท.เห็นว่า ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ว่าจ้างให้มีการเขียนข่าวลือโจมตีในลักษณะนี้ ก็ถือเป็นการว่าจ้างที่ไม่คุ้มค่า เพราะเป็นข้อมูลมั่ว ไม่มีที่มาที่ไป และยั่วยุให้คนไทยแตกแยกกันเอง ด้วยการแพร่ความเท็จ.

ขอบคุณข้อมูลจากไทยรัฐ "ปตท." งัดข้อมูลสยบความเท็จ 8 ข้อ