ไขข้อข้องใจ...สัญญาสัมปทานปิโตรเลียม

สัญญาสัมปทานปิโตรเลียม เป็นสัญญาที่ทำขึ้น ระหว่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กับ ผู้รับสัมปทาน ภายหลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ออกสัมปทานปิโตรเลียมนั้นได้ โดยเนื้อหาของ สัญญา จะเหมือนกันทุกสัมปทาน เพราะเป็นแบบร่างที่อยู่ในกฎกระทรวง ต่างตรงรายละเอียด เช่น เลขที่สัมปทาน จำนวนแปลง ขนาดพื้นที่ ปริมาณงาน ชื่อบริษัทผู้รับสัมปทาน เป็นต้น โดยมีเนื้อหาในหัวข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้


๑) บทนิยาม
๒) แปลงสำรวจ เนื้อหาว่า...สัมปทานนี้ มีกี่แปลง ขนาดพื้นที่เท่าไร
๓) ระยะเวลาสำรวจ... กี่ปี เริ่มจากวันที่เท่าไร สิ้นสุดเมื่อไร (ตามที่ระบุไว้ ใน พรบ.)
๔) ข้อผูกพันสำหรับการสำรวจ...ระบุ ช่วงเวลา และ เนื้องานในแต่ละปี (เอามาจาก ปริมาณงาน ปริมาณเงินลงทุน ที่เสนอตอนยื่นซองประมูลแปลง)
๕) ระยะเวลาผลิต... ระบุ จำนวนปี นับจากวันสิ้นระยะเวลาสำรวจ (ตามที่ระบุไว้ใน พรบ.)
๖) ผลประโยชน์พิเศษ...ผลประโยชน์เพิ่มเติมที่ระบุมาจากการยื่นซอง เช่น เงินช่วยเหลือการศึกษา อบรม ดูงาน เงินศีกษาและพัฒนาท้องถิ่น เป็นต้น
๗) การเก็บรักษาและขนส่งปิโตรเลียม...เป็นกติกา ที่ต้องปฏิบัติตาม
๘) การให้ความช่วยเหลือผู้รับสัมปทาน...การติดต่อหน่วยงานราชการอื่นๆ การเข้าพื้นที่ เป็นต้น
๙) ของที่ได้รับการยกเว้นภาษี...เป็นกติกา ที่ต้องปฏิบัติตาม
๑๐) ค่าสงวนพื้นที่ ค่าภาคหลวง ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ(SRB) ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม...เป็นอัตราการจัดเก็บตามที่ระบุไว้ใน พรบ.ปิโตรเลียม
๑๑) ข้อผูกพันและหน้าที่ของผู้รับสัมปทาน...เป็นหน้าที่ที่ต้องปฎิบัติตาม
๑๒) การเคารพต่อข้อกำหนดขั้นมูลฐาน... เป็นข้อตกลง จะไม่เปลี่ยนแปลงสัญญาเพียงฝ่ายเดียว
๑๓) การระงับข้อพิพาท...เป็นขั้นตอนการฟ้องร้อง
๑๔) การเพิกถอนสัมปทาน...ทำผิดตามเงื่อนไข ถูกยึดสัมปทานคืน
๑๕) การสิ้นสุดสัมปทาน...รวมเหตุการสิ้นสุดสัมปทาน
๑๖) การสละสิทธิ
๑๗) การแจ้งให้ทราบ...การแจ้ง การส่งรายงาน
๑๘) เบ็ดเตล็ด

จากทั้ง ๑๘ ข้อดังกล่าวนี้ ไม่มีข้อไหน ที่จะหมกเม็ด ใส่ผลประโยชน์แอบแฝงอะไรลงไปได้

รายละเอียด แบบฟอร์ม กฎกระทรวง กําหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม

การประมูลแปลงสัมปทานปิโตรเลียม...กับ คลื่นความถี่

การประมูลแปลงสัมปทานปิโตรเลียม... สัมปทานปิโตรเลียม ต่างจากสัมปทานอื่นๆ เช่น สัมปทานคลื่นความถี่ สัมปทานป่าไม้ สัมปทานเดินรถ เป็นต้น ต่างกันตรงการมีอยู่ของตัว “ทรัพยากร” ที่รัฐให้สิทธิเอกชนไปลงทุนและบริหารจัดการทรัพยากร นั้น (คลื่น ป่าไม้ และ เส้นทางเดินรถ) แทนรัฐ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ผลกำไรที่เกิดขึ้นก็จะนำมาแบ่งกัน ระหว่างรัฐกับเอกชน การคัดเลือกเอกชน จึงทำได้โดยการแข่งขันเสนอผลประโยชน์ให้รัฐ ใครเสนอให้รัฐมากกว่าก็ชนะการประมูลได้สัมปทานบวกทรัพยากรไปบริหารจัดการ



สัมปทานปิโตรเลียม ออกให้เพื่อ “การลงทุนสำรวจหาทรัพยากร” รัฐไม่ได้รับประกันว่าจะมีปิโตรเลียมอยู่ภายในแปลงสัมปทานนั้น เอกชนต้องลงทุนสำรวจหาให้พบเองโดยแบกรับความเสียงฝ่ายเดียว ถ้าไม่พบก็คืนแปลงกลับคืนให้รัฐพร้อมข้อมูลการสำรวจ (รัฐได้รับผลการสำรวจและข้อมูลดิบมาแบบฟรีๆ แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่ม ที่เรียกร้องให้รัฐเสียเงินลงทุนสำรวจเอง) สัมปทานก็สิ้นสุดลง ไม่มีผลประโยชน์ ไม่มีรายได้เกิดขึ้น การแข่งขันเสนอรายได้ให้รัฐในปริมาณมากๆ ก็ไร้ประโยชน์ถ้าสำรวจไม่พบ ความสำคัญจึงอยู่ที่ผลการสำรวจมากกว่า ซึ่งวัดได้จากปริมาณงานและปริมาณเงินลงทุนสำรวจ ยิ่งมาก ยิ่งดี ยิ่งมีโอกาสสำรวจพบปิโตรเลียมมากขึ้น และในกรณีสำรวจพบมีการพัฒนา ผลิตปิโตรเลียมขึ้นมา มีรายได้ รัฐสามารถควบคุมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรภายในประเทศได้ และแบ่งผลประโยชน์จากมูลค่าปิโตรเลียมนั้น ตามที่ระบุไว้ในกฎหมายอย่างเหมาะสมเป็นธรรม บังคับใช้กับเอกชนทุกราย ทุกแปลงสำรวจ ไม่ต้องเจรจาต่อรองใดๆ จึงไม่ต้องการอำนาจในการต่อรองผลประโยชน์ ลดช่องทางทุจริต แต่ยังคงไว้ซึ่งอำนาจในการกำกับดูและควบคุมอย่างใกล้ชิดในการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามข้อกฎหมายและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ

การคัดเลือกเอกชน จึงต้องทำการแข่งขัน โดยดูที่ปริมาณงานและปริมาณเงินลงทุนสำรวจ เพราะแสดงถึงศักยภาพ ความสามารถ ความพร้อม และความตั้งใจ ในการสำรวจหาปิโตรเลียมของเอกชนแต่ละราย ประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบบสัมปทาน ก็ใช้วิธีนี้ในการคัดเลือกเอกชน เช่น ประเทศแคนาดา เป็นต้น จึงไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ หรือ ปล่อยให้ผูกขาด

ถ้าเกรงว่า จะมีพวกมามั่วหรือนายหน้า เสนอปริมาณงานและเงินลงทุนมามากๆ เพื่อหวังผลชนะ แล้วจะเอาไปขายทอดตลาด เปลี่ยนมือทำกำไร ต้องขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปริมาณเงินลงทุนจะแปรผันตามปริมาณงานและจำนวนที่เสนอแข่งขันเข้ามาในช่วง 3 ปีแรก จะกลายเป็นข้อผูกพันตามสัญญาสัมปทานที่ต้องปฏิบัติตาม และต้องให้เงินประกันไว้กับรัฐด้วย ถ้าไม่ทำตามข้อผูกพันหรือทำงานไม่ครบจะถูกริบเงินประกัน ดังนั้นไม่ต้่องห่วงเรื่องการเบี้ยวงาน ส่วนการขายทอดตลาด เปลี่ยนมือ เปลี่ยนผู้ร่วมลงทุน ไปจนถึงเปลี่ยนผู้รับสัมปทาน สามารถทำได้ ตามข้อกฎหมาย ถ้าเป็นการระดมทุน แต่ไม่เห็นว่าจะทำได้ง่าย โดยเฉพาะขายเพื่อทำกำไร เพราะแปลงสัมปทานในช่วงสำรวจมีแต่ต้องเสียเงินลงทุน ไม่รู้ว่าจะพบหรือไม่ มีความเสี่ยงสูง แต่ถึงอย่างไรถ้ามีการเปลี่ยนแปลงผู้ลงทุน ก็ต้องไม่กระทบต่อสัญญาที่ทำไว้กับรัฐ และต้องได้รับการอนุมัติจากภาครัฐก่อนด้วย

ขั้นตอน วิธีการ...
การออกสัมปทานปิโตรเลียม ดำเนินการโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จะเป็นผู้กำหนดขอบเขต พื้นที่แปลงสำรวจ ซึ่งพิจารณาจากผลการศึกษาข้อมูลการสำรวจของแปลงสัมปทานเดิมที่เคยออกสัมปทานไปในหลายๆรอบที่ผ่านมา พื้นที่ใดมีโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่น่าสนใจ พอที่จะมีศักยภาพปิโตรเลียม น่าจะต้องเจาะลงไปพิสูจน์ทราบว่ามีปิโตรเลียมอยู่หรือไม่(ชั้นตอนนี้ใช้เงินลงทุนสูงมาก รัฐไม่ควรเสี่ยงเจาะเอง) ก็จะกำหนดขอบเขต ตีแปลงให้ครอบคลุม ออกมาเป็นพื้นที่แปลงสำรวจ และนำออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้น ก็จะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เปิดประมูลให้เอกชนเข้ามายื่นซอง และจะคัดเลือก หาผู้ชนะ และนำเสนอผ่านคณะกรรมการปิโตรเลียม รัฐมนตรี และ คณะรัฐมนตรี. เพื่ออนุมัติ และออกสัมปทานปิโตรเลียมต่อไป(ตามภาพด้านบน)

ในกรณีผู้ประมูลไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของแปลงใด และเพื่อให้เกิดการสำรวจในแปลงนั้น หน่วยงานรัฐอาจเรียกผู้ประมูลมารับข้อเสนอปรับเพิ่มปริมาณงานและปริมาณเงินลงทุน ให้ได้ขั้นต่ำ ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก็สามารถทำได้ แต่ไม่ใช่เป็นการเจรจาต่อรองใดๆ ถ้าผู้ประมูลยอมรับเกณฑ์ขั้นต่ำ ก็จะผ่าน ได้เป็นผู้รับสัมปทาน ก็จะสามารถทำการสำรวจในแปลงนั้นได้ เป็นผลดีต่อประเทศ ดีกว่าปล่อยให้เวลาผ่านไป แล้วนำมาเปิดใหม่ในรอบต่อมาซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกหลายปี

บริษัทน้ำมันทั้งในและต่างประเทศที่มีคุณสมบัติ หรือ กลุ่มคนที่สนใจ ก็ขอเชิญชวนให้เตรียมตัวเข้ามายื่นซองประมูลได้แล้วนะครับ ใกล้เวลาที่สัมปทานรอบที่ 21 จะกลับมาแล้ว หลังจากต้องหยุดชะงักไป 3 เดือน เพื่อรอการตัดสินใจของรัฐบาล ช่วยๆ กันครับ สำหรับคนไทยที่พอจะมีเงิน มาช่วยกันเอาแปลงสัมปทานไปสำรวจ เอาไปทำเอง เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงดีกว่านั่งคิดนึกทึกทักกันไปเอง และอย่าปล่อยให้กลุ่มทุนต่างชาติมาประมูลไปฝ่ายเดียวนะครับ เดี๋ยวจะมีคำครหาตามมาอีกว่า รัฐยกสมบัติให้พวกเขาไปหมดแล้ว...

สำหรับกลุ่มคนที่เรียกร้อง ระบบแบ่งปันผลผลิต คาดว่า รัฐจะแก้กฎหมายเปิดทางให้ ....แต่ อย่างไรเสีย การบังคับใช้คงยังไม่เรียบร้อย ยังไม่พร้อม ต้องใช้เวลาอีกระยะ และถ้าจะต้องเลือกบางแปลงในทะเลอ่วไทยตามกระแสเรียกร้องก่อนหน้า มาทดลองระบบดังกล่าวนี้ ...เกรงว่าจะเสียของเปล่านะครับ ......

ตัวอย่างสัญญาสัมปทาน อ่านเพิ่มเติม ไขข้อข้องใจ...สัญญาสัมปทานปิโตรเลียม

เปิดหลักฐานคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800ทับ2557

ตั้งข้อสงสัยการบิดเบือนคำสั่งศาลที่ว่า "เรื่องการไม่ปฏิบัติตามมติครม.เป็นเรื่องที่หน่วยราชการต้องไปว่ากล่าวกันเอง โดยคณะรัฐมนตรีที่เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงานทั้งหลาย"


ที่มา http://bit.ly/1WMIizy และ http://astv.mobi/A5rIX39

ข้อความนี้เป็นการยกคำพิพากษามาแค่ส่วนเดียว ทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิด ถือเป็นการบิดเบือนคำสั่งศาลหรือไม่?? โดยสาระสำคัญของคำสั่งศาลฯ ดังกล่าว มีการระบุไว้ตอนหนึ่งอย่างชัดเจนว่า

“กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหนึ่งพันสี่ร้อยสิบห้าคนกล่าวอ้างว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษา ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันภายในหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรี มิใช่เป็นเหตุที่จะกล่าวอ้างว่าเป็นการดำเนินการที่ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมายเพราะเป็นกระบวนการที่กำหนดขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น




นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนให้แก่กระทรวงการคลัง (ช่วงปี 2550-2551) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ก็ได้มีการรายงานให้ศาลปกครองสูงสุดรับทราบมาโดยตลอดเป็นจำนวนถึง 9 ครั้ง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ศาลปกครองสูงสุดจึงได้มีคำสั่งว่า “ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

ที่สำคัญ คือ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ศาลชั้นต้นก็ได้ออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ที่มาจากการอุทธรณ์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวกรวม 1,455 คน ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 สามารถสรุปได้ดังนี้

1. ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนยันตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง คือ ไม่รับคำฟ้องอุทธรณ์ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความ เนื่องจาก ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาในคดีแปรรูป ปตท. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
2. การที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวกรวม 1,455 คน ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ปตท. ส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งในทะเลและบนบก จึงเป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดในประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่ต้องห้าม
3. สำหรับประเด็นข้อกล่าวอ้างที่ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 กำหนด (เรื่องที่ให้ สตง. รับรอง) ไม่ใช่เหตุที่จะกล่าวอ้างว่าการดำเนินการตามคำพิพากษายังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมาย

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าจากคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดครั้งนี้ จึงเป็นการวินิจฉัยที่ยุติประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องการส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ทั้งหมด โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ปตท. ได้ส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่กระทรวงการคลังครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้วตั้งแต่ปี 2551 แล้ว


ที่มาบางส่วนจากบทความ : ศาลตัดสินแล้ว! ปตท. คืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติครบถ้วนหรือไม่ http://thaipublica.org/2015/02/chakartnit-4/

ย้อนรอยมหากาพย์ท่อก๊าซ ปตท. ผลประโยชน์ชาติบนความปั่นป่วนไร้จุดจบ

มหากาพย์ “ท่อก๊าซ ปตท.” ถูกจุดพลุขึ้นมาเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์” อีกหน!



หลังประธานคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เปิดแถลงมติ คตง.ที่ให้ชี้มูลความผิดอดีต รมว.คลัง (นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) พร้อมข้าราชการและอดีตผู้บริหารบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รวม 6 คน

โดยระบุว่า กระทำการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2550 กรณีแบ่งแยกทรัพย์สินและคืนท่อก๊าซบริษัท ปตท.ที่ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2550 ยังผลให้รัฐเกิดความเสียหายกว่า 32,613.45 ล้านบาท ก่อนส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.และรัฐบาลดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดผู้เกี่ยวข้องต่อไป

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก! ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2559 ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินก็ออกโรงแถลงมติคณะกรรมการตรวจการแผ่นดินที่ให้ยื่นเรื่องฟ้องกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ต่อศาลปกครอง โดยระบุว่าส่งมอบท่อก๊าซที่ว่านี้ไม่ครบตามคำพิพากษาของศาลมาแล้ว จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันชดใช้คืนเงินแผ่นดินวงเงินกว่า 52,393 ล้านบาท

ยังมีเครือข่ายปฏิรูปพลังงาน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายเอ็นจีโอที่ออกโรงยื่นฟ้องศาลปกครองและศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้บริษัท ปตท.ส่งคืนท่อก๊าซในส่วนที่อ้างว่ายังแบ่งแยกและส่งคืนให้แก่รัฐไม่ครบถ้วน ไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

จนก่อให้เกิดคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับ “ท่อก๊าซ ปตท.” ทำไมกรณีการแบ่งแยกทรัพย์สินส่งคืนท่อก๊าซ ปตท.ที่ดำเนินการไปนับ 10 ปี ถึงยังคาราคาซังไม่สะเด็ดน้ำเสียที!

“ทีมเศรษฐกิจ” ขอย้อนรอยมหากาพย์ท่อก๊าซ ปตท.ที่ว่านี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันวิเคราะห์ แน่นอนว่า หาก ปตท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงมีรายการ “หมกเม็ด” ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมติ ครม.และคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดจนยังผลให้รัฐเสียหาย ก็สมควรที่ทุกฝ่ายจะไล่เบี้ยทวงคืนผลประโยชน์ของแผ่นดินคืนมา

แต่หากรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ได้ดำเนินการไปอย่างครบถ้วนแล้ว ก็สมควรที่ประชาชนคนไทยจะได้ร่วมปกป้องและส่งกำลังใจให้รัฐกับองค์กร ปตท.ได้ลุกขึ้นมาฟ้องไล่เบี้ยเอากับเครือข่ายเหล่านี้อย่าง “สาสม” จะได้ไม่เที่ยวไปขุดเอาเผือกร้อนนี้ไป “แบล็กเมล์” ใครต่อใครกันได้อีก!

********

ย้อนรอยมหากาพย์ท่อก๊าซ ปตท.

วิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่ 1 เมื่อปี 2516 ทำให้รัฐบาลต้องมองหาแหล่งพลังงานภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศจนกระทั่งประเทศไทยสำรวจพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จึงมีการลงทุนวาง “ท่อส่งก๊าซปิโตรเลียม” จากแหล่งผลิตมายังชายฝั่งทะเลตะวันออก และกรุงเทพฯ

รัฐบาลได้จัดตั้ง “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” ขึ้นเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2521 เพื่อรับผิดชอบการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิง การจัดหาและนำเข้าพลังงานตลอดจนเป็นเครื่องมือของรัฐในการดูแลเสถียรภาพด้านพลังงานประเทศ

ก่อนที่รัฐจะดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็น “บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)” และนำกิจการเข้าจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2544 และถือเป็นรัฐวิสาหกิจลำดับต้นๆของประเทศที่มีการแปรรูปนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นอย่างจริงจัง!

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปตท.นั้น เครือข่ายภาคประชาชนและโดยเฉพาะ “มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค” ได้ออกโรงคัดค้านกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนี้อย่างถึงพริกถึงขิง ด้วยนัยว่าเป็นการ “ขายชาติ” เปิดให้ทุนการเมือง หรือนอมินีต่างชาติเข้ามา “ชุบมือเปิบ” ทั้งยังได้ยื่นฟ้องรัฐบาลต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนการแปรรูป และนำทรัพย์สินท่อก๊าซที่ว่ากลับมาเป็นสมบัติของแผ่นดิน

กระทั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาที่ ฟ 35/2550 (คดีแปรรูป ปตท.) ลงวันที่ 14 ธ.ค.2550 ให้ยกคำฟ้องกรณีเพิกถอนการแปรรูป ปตท.จำกัด (มหาชน) แต่ให้คณะรัฐมนตรี นายกฯ กระทรวงพลังงานคลัง และ ปตท.ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินกลับมาเป็นของรัฐ

หลังคำพิพากษา คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลังดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินดังกล่าว โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง และหากมีข้อโต้แย้งด้านกฎหมายก็ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณา

แม้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงานและบริษัท ปตท.จะดำเนินการแบ่งแยกและโอนทรัพย์สินท่อก๊าซ ปตท.กลับมาเป็นของรัฐตามคำพิพากษาของศาล จนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งลงวันที่ 26 ธ.ค.2551 ยืนยันว่า “ปตท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว”

อย่างไรก็ตาม หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับรองการส่งมอบท่อก๊าซปตท.ข้างต้นไปเพียงขวบเดือน กลับปรากฏว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือไปถึงสำนักงานศาลปกครอง กระทรวงการคลัง พลังงานและบริษัท ปตท.เพื่อแจ้งว่า ปตท.ยังส่งมอบทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังไม่ครบถ้วน

เป็นจุดกำเนิดของ “มหากาพย์ท่อก๊าซ ปตท.” ที่ยังคงมีการตามล้างตามเช็ดมาจนกระทั่งปัจจุบัน!!!

จุดพลุคืนท่อก๊าซ ปตท.ย้อนแย้งศาล?

ในทันทีที่ สตง.“จุดพลุ” ประเด็นการส่งคืนท่อก๊าซ ปตท. มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคและเครือข่ายเอ็นจีโอที่ต่อสู้กับกระบวนการแปรรูป ปตท.มาก่อนหน้า ก็ยื่นฟ้อง ปตท.ต่อศาลปกครองในทันที (3 มี.ค.2552)

และแม้ศาลปกครองจะมีคำพิพากษาให้ “ยกคำร้อง” และยืนยันว่า ปตท.ได้ดำเนินการคืนท่อครบถ้วนแล้ว แต่กระนั้นมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคและเครือข่ายก็ยังคงเดินหน้ายื่นฟ้องศาลปกครองอีกเพื่อให้ ปตท.แบ่งแยกและคืนท่อก๊าซฯตามมาอีกหลายต่อหลายครั้ง

มีการเปิดประเด็นใหม่ๆ ขึ้นร้องต่อศาลไม่หยุดหย่อน และเมื่อศาลไม่รับฟ้องทางกลุ่มก็จะยื่นอุทธรณ์ เมื่อศาลไม่รับอุทธรณ์ กลุ่มจะยื่นเรื่องให้เพิกถอนคำพิพากษาตามมาอีก วนเวียนอยู่เช่นนี้ถึง 5 รอบ จนกระทั่งวันที่ 16 ก.พ.2558 ศาลได้ออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ในคดีที่มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคกับพวกรวม 1,455 คน ร่วมกันอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกรณีแบ่งแยกทรัพย์และส่งคืนท่อก๊าซ ปตท. ที่ว่านี้

โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนยันตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง “ไม่รับคำฟ้องอุทธรณ์” ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ เนื่องจาก ปตท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาในคดีแปรรูป ปตท. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แม้จะมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดสั่งไม่รับคำฟ้องอุทธรณ์และให้จำหน่ายคดี แต่เครือข่ายภาคประชาชนกลุ่มนี้ก็ยังคงเดินหน้าร้องสิบทิศ และถึงขั้นยื่นเรื่องร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลปกครอง
สูงสุด และตุลาการศาลปกครองว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีการกระทำทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่อีก!

ก่อนที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) จะออกโรงตอกย้ำประเด็นการแบ่งแยกและส่งคืนท่อก๊าซ ปตท.ที่ว่านี้ในห้วงขวบเดือนที่ผ่านมา ที่ทำเอาใครต่อใคร “นั่งไม่ติด”

คลัง–ปตท.ยันทำตามคำพิพากษาครบถ้วน!

นายชวลิต พันธ์ทอง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและบริหารความยั่งยืน ปตท. กล่าวกับ “ทีมเศรษฐกิจ” ว่า ขอยืนยันว่าปตท.ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และมติ ครม.ครบถ้วนแล้ว พร้อมทั้งได้นำเสนอข้อมูลทรัพย์สินของ ปตท.ทั้งก่อนและหลังการแปรรูปต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อประกอบการพิจารณามาโดยตลอด ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษา “ถึงที่สุด” ให้การรับรองเมื่อปลายปี 2551

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2559 ศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2551 อีกครั้ง

กับประเด็นที่ คตง. และ สตง. ยังคงมีความเห็นว่า ปตท.มิได้รอความเห็นของ สตง.ก่อนยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อปี 2551 นั้น ปตท.ยืนยันว่า ได้นำส่งข้อมูลบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดให้ สตง.พิจารณาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.2551 ซึ่ง สตง.เองก็ไม่ได้มีความเห็นใดกลับมายัง ปตท. “ที่มีการกล่าวอ้างว่า สตง.ได้ส่งรายงานแจ้งแก่ ปตท.ว่า ยังส่งคืนท่อก๊าซฯไม่ครบนั้น เป็นเพียงเอกสารแนบท้ายหนังสือของ สตง. ลงวันที่ 26 ธ.ค.2551 ที่ สตง.นำส่งให้แก่ศาลปกครองสูงสุด ปตท.และหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ศาลได้มีคำสั่งไปแล้ว”

ส่วนหนังสือที่ ปตท.ได้รับจาก สตง.นั้น เป็นหนังสือฉบับลงวันที่ 20 ก.พ.2552 ที่แจ้งว่า ปตท.ยังส่งคืนทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังไม่ครบถ้วน แต่ก็ได้ลงท้ายหนังสือไว้ด้วยว่า ทั้งนี้ การดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินจะครบถ้วนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาลเป็นสำคัญ “ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่ออกมาย่อมถือเป็นยุติ และประเด็นดังกล่าวสำนักงานศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีหนังสือลงวันที่ 10 มี.ค.2552 ตอบกลับไปยัง สตง.และ ปตท.แล้วว่า ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาข้อมูลของ สตง.แล้ว และเห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

ยังสำทับด้วยคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ที่มีต่อประเด็นนี้ โดยศาลได้ระบุชัดเจนว่า ข้อกล่าวอ้างที่ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2550 (เรื่องที่ให้ สตง.รับรอง) ไม่ใช่เหตุที่จะกล่าวอ้างว่า การดำเนินการตามคำพิพากษายังไม่ถูกต้องสมบูรณ์

“ทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันได้ว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินเป็นไปตามคำพิพากษาและหลักเกณฑ์ที่ ครม.กำหนดและคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ย่อมถือเป็นยุติ ไม่อาจมีบุคคลหรือหน่วยงานอื่นใดจะมีอำนาจกลับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้”

เช่นเดียวกับ นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ที่ออกมาโต้แย้งมติ คตง.-สตง.ต่อกรณีการแบ่งแยกทรัพย์สินและส่งคืนท่อก๊าซ ปตท.ที่ว่านี้ว่า ประเด็นที่ คตง.-สตง.และเครือข่ายยังคงติดใจในเรื่องของทรัพย์สินท่อก๊าซ “ในทะเล” ที่ไม่ได้นำมารวมด้วยนั้น ประเด็นนี้ คตง.และ สตง.ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค.2557 จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการตีความลงมา

“แต่ไม่ว่าจะอย่างไรหากยึดตามหลักการก็ต้องยึด “คำพิพากษาของศาลปกครอง” เป็นหลัก และถือเป็นที่สุดอยู่แล้ว ไม่ใช่ยึดตามผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา”

ที่สำคัญในการตรวจสอบและรับรองงบการเงินประจำปีของบริษัท ปตท.โดย สตง.ก็รับรองแบบไม่มีเงื่อนไขมาโดยตลอด หากสิ่งที่ สตง.ลุกขึ้นมาโต้แย้งว่า ปตท.ยังคงส่งมอบทรัพย์สินท่อก๊าซไม่ครบถ้วน ถ้าเป็นเช่นนั้นเท่ากับว่า สตง.ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และผู้ถือหุ้นของบริษัท ปตท.มาโดยตลอดอย่างนั้นหรือ?!!!

“การที่ คตง. และ สตง.หารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาและจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ แต่กลับมาสรุปเองว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินไม่ครบถ้วนและกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้น พฤติกรรมของ คตง. และ สตง.จึงเป็นการบั่นทอนขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานโดยสุจริต”

บทสรุป :

สำหรับ “ทีมเศรษฐกิจ” แล้ว ข้ออ้างของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินเพื่อส่งคืนท่อก๊าซ ปตท.ที่กระทรวงการคลังและ ปตท.ดำเนินการไปก่อนหน้า มีการรวบรัดขั้นตอนโดยไม่มีการส่งเรื่องให้ สตง.ตรวจรับรองความถูกต้องก่อนรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) และศาลปกครองสูงสุด รวมไปถึงไม่ได้ส่งร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อนนั้น

ท้ายที่สุดก็อย่างที่ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาลงมา ประเด็นดังกล่าวหาใช่เหตุที่จะทำให้การดำเนินการแบ่ง แยกทรัพย์สิน–ท่อก๊าซ ปตท.ขาดความสมบูรณ์จนเป็นเหตุให้ศาลต้องมาพิพากษาในเรื่องที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา “ถึงที่สุด” ไปแล้ว

ที่สำคัญคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ที่สั่งไม่รับอุทธรณ์คดีนี้และสั่งให้จำหน่ายคดีออกไปจากสารบบนั้น ได้ระบุชัดเจนว่า การจะให้ศาลมีคำพิพากษาในสิ่งที่ศาลปกครองสูงสุดได้ชี้ขาดเป็นที่ยุติไปแล้วนั้นถือเป็นการ “ต้องห้าม”

และหากในที่สุดแล้ว เกิดมีองค์กรอิสระใดหรือศาลอื่นใดมีคำพิพากษาในคดีนี้ที่ผิดแผกแตกต่างไปจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ก็คงจะกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่อาจทำให้หน่วยงานรัฐปั่นป่วนขึ้นไปอีก เพราะไม่รู้ว่าต่อไปจะยึดถือเอาคำพิพากษาศาลใดเป็นเกณฑ์ปฏิบัติกันได้อีก...

เหนือสิ่งอื่นใด หากคำพิพากษาของ “ศาลปกครองสูงสุด” ยังไม่เป็นที่สุดหรือที่ยุติแล้ว เรายังจะเชื่อถือองค์กรใดในประเทศไทยนี้ได้อีก?!!!

ทีมเศรษฐกิจ

ที่มา ไทยรัฐ http://www.thairath.co.th/content/623908

รองปลัดคลังสวนกลับ คตง. สตง. หมิ่นศาล กั๊กข้อมูล ปกปิดความผิดตัวเอง

นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในฐานะเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าจะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กรณีที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ระบุว่า บมจ.ปตท. (PTT) คืนท่อก๊าซให้กระทรวงการคลังไม่ครบถ้วนและรายงานข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐว่า ข้อกล่าวหาทั้ง  2 ประเด็นดังกล่าว ปราศจากเหตุและผลทุกประการ


ที่มา ภาพ http://www.mof.go.th/vayupak/inc_news_detail.php?id=313

นอกจากนั้น ยังมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่สำคัญที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ได้ทำความเห็นไปยังศาลปกครองและศาลปกครองได้ตอบยืนยันเป็นทางการแล้วว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินเรียบร้อยแล้ว อีกทั้ง คตง. และ สตง.ก็รู้ว่าที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดก็มีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดแล้วว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว การที่ คตง.และ สตง. ยังเห็นว่าไม่ครบจึงเท่ากับเป็นการดูหมิ่นศาลปกครอง

อีกทั้งยังปกปิดความผิดของตัวเองที่รับรองงบการเงินของ บมจ.ปตท.ที่ผ่านมาอย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งที่ สตง. เป็นผู้ทักท้วงว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน รวมทั้งละเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้หารือคณะกรรมการกฤษฎีกากรณีที่มีปัญหาโดยได้ข้อยุติต่อไป แต่กรณีนี้การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกายังไม่เป็นที่ยุติ คตง.กับ สตง.กลับมาสรุปเองว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน และใช้อำนาจกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และรายงานเท็จ

นายอำนวย กล่าวว่า พฤติกรรมของ คตง.และ สตง.ดังกล่าวเป็นการบั่นทอนขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับข้อเท็จจริงที่ คตง.และ สตง. ตั้งใจไม่แถลงให้สื่อมวลชนและประชาชนทราบ คือ ประเด็นที่ 1 เรื่องความครบถ้วนถูกต้องของทรัพย์สินที่ .ปตท.ต้องแบ่งแยกและโอนให้กระทรวงการคลังนั้น ครม.มีมติมอบหมายกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังไปแบ่งแยกทรัพย์สินให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้ สตง.ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ทั้งนี้หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายให้หารือคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เป็นที่ยุติต่อไป

กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์เป็นผู้ดำเนินการ กรมธนารักษ์จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำการตรวจสอบและแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา โดยในระหว่างนั้น ปตท.ก็ได้รายงานผลการดำเนินการให้ศาลปกครองสูงสุดทราบทุกระยะ โดยดำเนินการตรวจสอบรายการทรัพย์สินที่จะแบ่งแยกเสร็จสิ้นและรายงานให้กระทรวงการคลังเห็นชอบ จากนั้นลงนามในบันทึกแบ่งแยกทรัพย์สินเมื่อวันที่ 24 ก.ย.51

จากนั้นวันที่ 11 มิ.ย.51 กระทรวงการคลังได้แจ้งการตรวจสอบและแบ่งแยกทรัพย์สินของ ปตท.ที่จะโอนมาให้เพื่อให้ สตง.ตรวจสอบ หลังจากนั้นได้ไปจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามกฎหมายตามจังหวัดต่างๆ ที่เป็นที่ตั้งของทรัพย์สินครบถ้วนเมื่อวันที่ 28 พ.ย.51 ปตท.ถึงรายงานสรุปผลการดำเนินการต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.51 และศาลมีความเห็นว่าดำเนินการตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ก.พ.52  สตง.มีหนังสือลับถึงศาลปกครองสูงสุดและนายกรัฐมนตรี โดยเห็นว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษายังไม่ครบ โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า "ทั้งนี้การดำเนินการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินของ บมจ. ปตท. ให้กระทรวงการคลัง ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจะครบถ้วนและเป็นไปตามคำพิพากษาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดซึ่งคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุดถือเป็นที่ยุติ"

วันที่ 10 มี.ค.52 ศาลปกครองได้มีหนังสือตอบ สตง.ว่า ศาลปกครองได้ติดตามการดำเนินการตามคำพิพากษาและรายงานให้ศาลทราบ ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้อง คดีที่ 1-4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

"เอกสารฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 และวันที่ 10 มีนาคม 2552 นี้ คตง. และ สตง. ตั้งใจปกปิดไม่แถลงต่อสื่อมวลชนและประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นการให้ข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ นอกจากนี้ในระหว่างดำเนินการก็ได้มีผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อให้วินิจฉัยว่าการแบ่งแยกและโอนทรัพย์สินดังกล่าว ยังไม่ครบถ้วนอีกหลายครั้ง ซึ่งศาลปกครองก็ได้มีคำสั่งไม่รับฟ้องและยืนยันท้ายคำฟ้องมาโดยตลอดว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ได้แบ่งแยกและโอนทรัพย์สินตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว

โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ที่ประชุมตุลาการศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีมติยืนยันเช่นเดียวกันว่าผู้ถูกฟ้องคดี ได้แบ่งแยกและโอนทรัพย์สินตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว ในส่วนนี้ คตง.และ สตง. ก็จงใจปิดบังไม่ให้ข้อเท็จจริงแก่สื่อมวลชนและประชาชน" นายอำนวย กล่าว

ข้อเท็จจริงอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือ สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองงบการเงินของ บมจ.ปตท.โดย สตง.รับรองแบบไม่มีเงื่อนไขมาโดยตลอด ทั้งที่ สตง.เองเป็นผู้ทักท้วงมาโดยตลอดว่า ปตท.โอนทรัพย์สินไม่ครบ เท่ากับว่า สตง.ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และผู้ถือหุ้นของ ปตท. ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดจรรยาบรรณอย่างร้ายแรงและต้องมีผู้รับผิดชอบ

ส่วนประเด็นเรื่องการละเว้นไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ส.ค.50 และรายงานข้อมูลอันเป็นเท็จนั้น กรมธนารักษ์จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำการตรวจสอบและแบ่งแยกทรัพย์สินและเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ คณะกรรมการได้รายงานให้กรมธนารักษ์ทราบและขอความเห็นชอบจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก ครม. โดยกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานได้รายงานให้ ครม. รับทราบ รายงานศาลปกครอง เพื่อพิจารณาว่าเป็นไปตามคำพิพากษาหรือไม่ และรายงาน สตง. เพื่อตรวจสอบตามมติ ครม. จึงเป็นแนวทางปฏิบัติราชการปกติทั่วไป ครม. มิได้มีมติให้ สตง. ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องก่อน แล้วจึงให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง รายงาน ครม.หรือศาลปกครองแต่อย่างใด

การดำเนินการของกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ และ บมจ.ปตท. จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ ครม.มอบหมาย และมิได้มีการรายงานข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จแต่ประการใด

ที่มา http://www.ryt9.com/s/iq03/2424145

อ่านเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตั้งข้อสงสัยถึง สตง เรื่องการรับรองรายงานบัญชีประจำปีของ ปตท. กับ การตรวจสอบเรื่องคืนท่อก๊าซ
หลักฐานชิ้นสำคัญชี้ชัดว่า สตง. ยอมรับ ปตท. คืนท่อก๊าซครบถ้วน

ตั้งข้อสงสัยถึง สตง เรื่องการรับรองรายงานบัญชีประจำปีของ ปตท. กับ การตรวจสอบเรื่องคืนท่อก๊าซ

หากท่านผู้อ่านได้เคยอ่านรายงานประจำปี ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ อย่างหนึ่งที่ต้องมีคือ การตรวจสอบเอกสาร รับรองทรัพย์สินและค่าใช้จ่ายต่างๆ และในกรณีของบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้วยแล้ว รายงานประจำปี ย่อมมีความเข้มงวดในการตรวจสอบจาก หน่วยงานต่างๆ


กลับมาที่เรื่อง การคืนท่อส่งก๊าซ ที่เป็นคดีกันอยู่ขณะนี้ระหว่าง ปตท. กับ คตง. ที่ได้มีการออกสื่อไปต่างๆ ซึ่งขัดกับการระบุลงไปในรายงานประจำปี ของ ปตท. โดยสิ้นเชิง ดังนั้นน่าจะต้องกลับมาตั้งข้อสังเกตุที่เป็นหน่วยงานที่ทำการตรวจสอบบัญชีว่า มีจุดประสงค์ใดกันแน่

1. สตง. ขาดความรู้ความเข้าใจในหลักการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จากที่ให้ความเห็นเรื่องท่อในทะเลถือเป็นสาธารณะสมบัติ เป็นการตีความโดยไม่เป็นไปตามคำสั่งศาลและการพิจารณาของ ครม. หรือไม่?

2. สตง. บกพร่องในหน้าที่ เนื่องจากได้รับข้อมูลแบ่งแยกทรัพย์สินจาก ปตท. ตั้งแต่เดือนม.ค. 2551 แต่ดำเนินการล่าช้า โดยให้ความเห็นไม่ทันกำหนดเวลาที่ต้องรายงานศาลในเดือน ธ.ค. 51 หรือไม่?

3. สตง. ปกปิดความบกพร่องของตนเอง กล่าวร้ายผู้อื่น ขาดจริยธรรมและจรรยาบรรณของการปฏิบัติหน้าที่หน่วยงานตรวจสอบของรัฐ โดยกล่าวหา ปตท. ว่าให้ข้อมูลไม่ครบต่อศาล ทั้งที่เป็นผู้ให้ข้อมูลล่าช้าเอง และยังปกปิดข้อเท็จจริงที่ศาลมีความเห็นยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรกลับไปที่ผู้ว่า สตง. หรือไม่?

4. สตง. ไม่รักษาจุดยืน ขาดดุลยพินิจในความเหมาะสมของการปฏิบัติหน้าที่ โดยเคยมีหนังสือยอมรับคำตัดสินศาลเป็นที่สิ้นสุด แต่ยังมีความเห็นขัดแย้งตลอดมา สร้างปัญหาให้กับข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทมหาชน ในการปฏิบัติราชการ และสร้างความสับสนให้กับสังคม และความเสียหายกับเศรษฐกิจ หรือไม่?

5. สตง. กระทำความผิดร้ายแรง ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ผู้รับสอบบัญชี ไม่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่ผู้รับสอบบัญชีให้บริษัทมหาชนต่อไป เพราะในฐานะผู้รับสอบบัญชีของ ปตท. ที่ได้รับแต่งตั้งโดยผู้ถือหุ้น เมื่อมีความเห็นว่าท่อในทะเลเป็นทรัพย์สินที่จะต้องคืนให้รัฐ แต่กลับรับรองงบดุลต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552 โดยไม่บันทึกความเห็นใดๆ ประกอบงบ กระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนไทยและต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์ สร้างความสับสนและเสียหายต่อผู้ถือหุ้นและบริษัทจดทะเบียน หรือไม่?

6. สตง. ขาดสำนึกในเรื่องการดำเนินการโดยมีผลประโยชน์ทับซ้อน ในกรณีการตรวจสอบทรัพย์สินของ บมจ.ปตท. จากการแปลงสภาพการปิโตรเลียมฯ เนื่องจากบทบาทผู้ตรวจสอบที่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐ และผู้รับสอบบัญชีที่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น มีประโยชน์ขัดแย้งกัน ควรที่จะต้องประกาศต่อผู้ถือหุ้น และไม่รับเป็นผู้รับสอบบัญชีให้ ปตท. ตั้งแต่ปี 2552 หรือไม่?

7. สตง. ใช้อำนาจโดยมิชอบ สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยกล่าวหาว่าละเลย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งที่ครม.มีมติมอบหมายการปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเป็นทางการ และผู้รับมอบหมายได้ปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วน หรือไม่?

8. ผู้ว่า สตง. กระทำการเกินอำนาจหน้าที่ ผิดมารยาทและจรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบ โดยให้สัมภาษณ์สื่อสาธารณะและให้ข้อมูลบุคคลภายนอกเกี่ยวกับผลการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ คตง.จะเห็นชอบอย่างเป็นทางการ หรือไม่?

และหากเป็นเช่นนี้ การที่ให้ข้อมูลเรื่องการพิจารณานำคืนท่อก๊าซในส่วนเส้นที่ไม่ได้ใช้อำนาจมหาชนในการรอนสิทธิคืนนั้น อาจจะยังส่งผลให้ต้องตีความเรื่องอื่นๆ ของ สตง. เกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นสาธารณะสมบัติซึ่งต้องคืนให้รัฐ จะมีผลลูกโซ่ถึงรัฐวิสาหกิจที่แปลงสภาพเป็น บมจ. อื่นๆ ตามมาอีกหรือไม่?

หมายเหตุ เอกสารรายงานผู้สอบบัญชีโดย สตง. ในรายงานประจำปีของ ปตท. ตั้งแต่ปี 2550 - 2558 จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2550 - 2551 มีการระบุเรื่องการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีปรากฎรายละเอียดเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด












มหากาพย์ท่อก๊าซ ปตท. ยังไม่จบ จริงหรือ?

"มหากาพย์การฟ้องคดีทวงคืนท่อก๊าซ ทรัพย์สินแผ่นดิน ยังไม่จบ จริงหรือ?" ยาวมาก แต่อยากให้อ่าน สาเหตุ

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาอีกครั้ง กับการทวงคืนท่อก๊าซที่น่าจะจบตามคำพิพากษาไปแล้ว แต่อาจไม่จบตามจริต ความจริงเรื่องท่อก๊าซนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ศาลปกครองเคยมีคำสั่งรวมถึงคำพิพากษาประเด็นนี้มาแล้วถึง 5 ครั้ง ถ้าจะให้ย้อนไปก็ตั้งแต่ 26 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ศาลได้มีคำสั่งว่า ปตท. ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระทั่งล่าสุดเมื่อ 7 เมษายน 2559 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ฟ้อง (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ คุณ รสนา) อีกครั้ง ก็ยังมีการตั้งคำถามอีกรอบ สร้างความสับสนเคลือบแคลงให้ประชาชนสับสนในข้อเท็จจริงว่า

"มหากาพย์การฟ้องคดีทวงคืนท่อก๊าซ ทรัพย์สินแผ่นดิน จบแล้ว จริงหรือ?" เพราะศาลยังไม่ได้พิจารณาเนื้อหาในประเด็นแห่งคดี การถูกยกคำร้องเป็นปัญหาแพ้ทางเทคนิคกฎหมายเท่านั้น
ถ้าผู้ที่ยังสงสัย ได้อ่านคำสั่งของศาลปกครองล่าสุด (ลงวันที่ 7 เมษายน 2559) รวมถึงคำสั่งในครั้งที่ผ่านๆ มา ด้วยใจที่ปราศจากอคติ ก็น่าจะเข้าใจ เพราะที่ผ่านมาศาลฯ ได้ชี้แจงประเด็น รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ ไว้ครบถ้วน

ประการแรก คือ ศาลฯ ไม่ได้ตัดสินโดยอาศัยเหตุที่ว่าผู้ฟ้องไม่ใช่คู่ความฝ่ายที่ชนะคดี (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น (และในคำสั่งของศาลไม่ได้ใช้คำว่า ประชาชนผู้ฟ้องคดีไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ด้วย) เพราะในคำสั่งยังอ้างข้อเท็จจริงของคดีที่ผู้ฟ้องได้เคยยื่นคำร้องลงวันที่ 3 มี.ค. 2552 ที่ขอให้ศาลไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ ปตท. ต้องแบ่งแยกให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษา ซึ่งจริงๆ แล้วในคดีนั้นในคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ยื่นต่อศาลฯ ก็ได้มีการแนบหนังสือทักท้วงของ สตง.เข้าไปด้วย และจริงๆ ศาลฯ ก็ได้รับรายงานการตรวจสอบของ สตง. มาหลายวาระ และโดยอย่างยิ่ง หนังสือ สตง. ฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 ก็ยังได้ระบุความเห็นในตอนท้ายไว้เลยว่า “....การดำเนินการแบ่งแยกจะครบถ้วนและเป็นไปตามคำพิพากษาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่จะพิจารณาซึ่งคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นยุติ...” เพราะความถูกต้องครบถ้วนของการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลฯ องค์กรเดียวที่จะชี้ขาดในเรื่องนี้ได้ก็คือศาล.... ดังนั้น ที่อ้างว่า การที่ประชาชนผู้ฟ้องคดีถูกยกคำร้องทุกครั้งจึงเป็นแค่ปัญหาแพ้ทางเทคนิคกฎหมาย (technical foul) เพราะศาลปกครองยังไม่เคยพิจารณาเนื้อหาแห่งคดีในคำฟ้องของประชาชนเรื่องการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนแผ่นดินยังไม่ครบถ้วนเพราะมีการลัดขั้นตอนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญของกระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สิน จึงไม่จริง!!
ประการที่สอง เรื่องการตีความของกฤษฎีกา การตั้งคำถามเป็นเรื่องที่ดี แต่การอดทนรอการพิจารณาที่ถี่ถ้วนน่าจะดีกว่า เพราะ ขนาดคดีแบ่งแยกทรัพย์สิน ยังใช้เวลาในการยื่นฟ้องพิจารณา รวมถึงยื่นซ้ำอีก ต่อเนื่องกันกินเวลามาทั้งหมด จะเกือบสิบปี โดยที่ยื่นทุกครั้งก็มีการพิจารณาทุกครั้ง ฉะนั้นแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแน่นอน

ส่วนในกรณีของ อดีต รมว กระทรวงการคลังที่มีการตั้งคำถามถึงท่อก๊าซในทะเล ว่าควรเป็นของใครและมีการเทียบไปถึงว่าควรต้องคืน เพราะมีการยกเทียบการเช่าที่ของผู้ค้าริมหาดไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนให้รัฐ ตั้งเพื่อประโยชน์ส่วนตน

กรณีนี้ศาลปกครองได้วินิจฉัยให้ทรัพย์สินของ ปตท. ที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนส่งมอบให้กับรัฐ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าท่อก๊าซบนบกบางส่วนนั้น อยู่บนที่ดินได้มาจากการใช้อำนาจมหาชน เช่น การเวนคืนที่ดิน หรือ การรอนสิทธิที่ดินของเอกชน ส่วนนี้จึงส่งมอบให้แก่รัฐไป แต่ท่อส่วนที่ ปตท. ลงทุนเองที่อยู่บนที่ดินที่ไม่ได้มาจากการเวนคืนที่ดิน หรือ รอนสิทธิที่ดินของเอกชน ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่ศาลปกครองวินิจฉัย ถ้าให้ส่งมอบท่อเหล่านั้นให้รัฐคงต่อไปไม่มีคนกล้ามาลงทุน ท่อก๊าซในทะเลก็เช่นกัน ไม่ได้อยู่บนที่ดินที่มาจากการเวนคืนที่ดิน หรือ รอนสิทธิที่ดินของเอกชน ซึ่งไม่ใช่การใช้อำนาจมหาชน ดังนั้นท่อก๊าซในทะเล จึงไม่เข้าข่ายที่ต้องส่งมอบให้แก่รัฐ และ พื้นที่ในทะเลเป็นพื้นที่ของรัฐ จึงไม่จำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดิน หรือ รอนสิทธิที่ดิน

การวางท่อในทะเลจึงมีเพียงจะต้องขออนุญาตต่อหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ เช่น กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ กรมประมง เป็นต้น ถ้าหน่วยงานของรัฐอนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้ เอกชนรายใดก็สามารถใช้พื้นที่ในทะเลได้ ส่วนเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนให้รัฐนั้น เรื่องนี้ผมคิดว่า ท่านรู้ดีอยู่ว่า การจ่ายค่าตอบแทนให้รัฐนั้น มีหน่วยงานรัฐกำกับอย่างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน รวมไปถึงหน่วยงานอย่าง สตง.ตรวจสอบรายรับรายจ่ายอีกด้วย และเอาเรื่องการวางท่อไปเทียบกับการค้า ท่านไม่คิดถึงว่า มันต่างกัน การวางท่อนั้น จุดประสงค์คือเพื่อส่งต่อ พลังงานให้เราคนไทยทุกคนได้ใช้กัน มีพลังงานไม่ขาดแคลน ไปเทียบกับการขายของริมหาดได้อย่างไร

ดังนั้น เรื่องประเด็นเรื่องท่อก๊าซควรจะจบได้แล้วตามกระบวนการของกฎหมายที่ศาลได้ตัดสินแล้วโดยชอบ หรือ ถ้าไม่จบก้อเพราะมันไม่เป็นไปตามหวังของใครบางคนหรือไม่?

เรื่องที่เกี่ยวข้องกัน หลักฐานชิ้นสำคัญชี้ชัดว่า สตง. ยอมรับ ปตท. คืนท่อก๊าซครบถ้วน

หลักฐานชิ้นสำคัญชี้ชัดว่า สตง. ยอมรับ ปตท. คืนท่อก๊าซครบถ้วน

ถ้าเห็นข้อมูลประกอบนี้ ควรได้เวลายุติเสียที เรื่องทวงคืนท่อก๊าซ จากกลุ่มคนบางกลุ่มที่เป็นมหากาพย์ยืดยาวกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นมหากาพย์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เพิ่งจะมาเป็นที่ยุติเด็ดขาดเอาเมื่อ 16 ก.พ. 2558 นี้เอง แต่ก็ไม่วายที่ยังมีกลุ่มคนบางกลุ่มออกมาพูดไปวกไปวนมา ทวงคืนกันไม่ยอมจบซะที



ผู้ฟ้องก็คือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (เจ้าเก่า) ส่วนผู้ถูกฟ้องก็กราวรูดกันมาตั้งแต่ นายกรัฐมนตรี กระทรวงพลังงาน ปตท. และกระทรวงการคลัง

เริ่มตั้งแต่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจปตท. ศาลปกครองสูงสุดยกคำร้อง

แต่ยังมีรายละเอียดในเรื่องของการแบ่งแยกทรัพย์สินคือท่อส่งก๊าซว่าอันไหนเป็นของรัฐ ต้องส่งมอบคืน และอันไหนยังคงเป็นของปตท.

เกณฑ์ตัดสินของศาลฯ ท่านก็ยึดเอาว่า ทรัพย์สินที่ได้มาจากการใช้อำนาจเวนคืน รอนสิทธิเหนือที่ดินเอกชน และใช้เงินลงทุนของรัฐ ปตท.ต้องคืนให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การใช้ท่อจากนี้ไปจะต้องมีค่าเช่า

ส่วนทรัพย์สินที่ บมจ.ปตท.เป็นผู้ลงทุนเองทั้งบนบกและใต้ทะเล ก็ให้ถือว่ายังคงเป็นสมบัติของ ปตท. ไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินคืนรัฐ

มูลนิธิอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ ยังติดใจคำสั่งศาลว่า ทำไมยังมีส่วนแบ่งแยกให้เป็นทรัพย์สินของ ปตท.อยู่อีก จึงยื่นคำร้องฟ้องต่อศาลกันใหม่อีก

ฟ้องร้องเรื่องปตท.ส่งทรัพย์สินคืนไม่ครบ ฟ้องไปที่ศาลปกครองกลางบ้าง ศาลปกครองสูงสุดบ้าง ศาลท่านก็ยกคำฟ้องทุกครั้งไป

แต่มูลนิธิแห่งนี้ ก็ยังใช้สิทธิ “ฟ้องซ้ำ-ฟ้องซ้อน” ได้ ไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง

ระหว่างนั้น ช่วง 9 ปีมานี้ ก็มีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือสตง.บ้าง คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาลบ้าง หรือกลุ่มพลังทวงคืนปตท.บ้าง สลับหน้ากันเข้ามาเชียร์ผู้ฟ้องร้องกันเป็นระลอก

อย่างกับละครเลยล่ะครับ ช่วง 9 ปีที่ต่อสู้กัน มีทั้งบทลักไก่ บทพูดความจริงแค่ครึ่งเดียวหรือ “ฮาล์ฟ ทรูทช์” หรือบทเฮละโลทำเนียน ตีหน้าซื่อ แต่จะขอโค่นล้มคุณเสียให้ได้

สตง.ยุค “คุณหญิงเป็ด” ผ่านไป นึกว่าการจองล้างจองเวรปตท.จะหมดไปแล้ว แต่ สตง.ยุคคุณพิสิษฐ์ ลีลาวัชโรบล กลับเฮี้ยบไม่แพ้กันสักเท่าไหร่เลย

เทียวไล้เทียวขื่อฟ้องร้องหน่วยงานต่างๆ ว่า ปตท.ยังคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วนอยู่นั่นแหละ

มิใย ปตท. กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง พลังงาน จะชี้แจงกลับไปว่า ปตท.ส่งคืนทรัพย์สินเข้ารัฐครบถ้วนไปแล้ว แต่ สตง.ก็ไม่ฟัง

ศาลปกครองยกคำร้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง สตง.ของท่านพิสิษฐ์ก็ไม่ยอมรับรู้รับเห็นด้วยแต่ประการใด

- ข้อน่าพิรุธตรงหนังสือสำคัญลงวันที่ 10 มี.ค. 2552 ที่สำนักงานศาลปกครองแจ้งไปยัง สตง. มีข้อใหญ่ใจความว่า ปตท. ได้ส่งคืนทรัพย์สินเรียบร้อยแล้ว ตามคำพิพากษาของศาลปกครองนี่สิ... -

- ไม่รู้ สตง.ไปทำตกหล่นสูญหายได้อย่างไร -

สตง.ถึงได้เล่นบท “ผู้ไม่รับรู้” และเข้าไปเล่น “เกมโค่นล้ม” เกมเดียวกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเช่นนี้

ล่าสุด ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งเด็ดขาดยกคำร้องมูลนิธิฯและพวกจำนวน 1,455 คน กรณีคืนท่อก๊าซปตท.ไปเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2558 พร้อมทั้งจำหน่ายคดีออกจากสารบบไปแล้ว

** หมายเหตุล่าสุดก็เริ่มมีการฟ้องร้องทวงคืนกันอีกระลอก ซึ่งข้อมูลที่นำมาเสนอนี้ น่าจะมีประโยชน์ต่อสังคมที่ไล่แชร์ ไล่ทวงคืนกันไม่บันยะบันยัง โดยไม่สนข้อมูล หรือแม้แต่คำตัดสินของศาล ว่ากรณี้น่าจะยุติได้แล้ว เพราะจำหน่ายออกจากสารบบ

เรื่องเก่า ลำดับเหตุการณ์ การคืนท่อก๊าซ

ผลการตัดสินของศาลปกครอง 

มหากาพย์ท่อก๊าซ ปตท. ยังไม่จบ จริงหรือ?