แอดมินเพจทวงคืนพลังงานไทย และ Thai Energy Get Back ต้องจำคุก เพราะเหตุผลต่อไปนี้

สรุปสาระสำคัญคำพิพากษาคดี ปตท. ฟ้อง แอดมินเพจทวงคืนพลังงานไทย และ Thai Energy Get Back ศาลพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 326 มาตรา 328 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14(1) แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมจำคุก 40 เดือน โดยไม่รอลงอาญา



คำพิพากษาคดี ปตท. ฟ้อง ศรัลย์ (2637/2557, 4135/2557)(โดยสังเขป) ในประเด็นพิจารณาว่าข้อความและภาพในเว็บไซต์เฟซบุ๊กของจำเลยเป็นเท็จหรือไม่

ศาลวินิจฉัยจากการเบิกความในทำนองเดียวกันของนายพงศธร ทีปิรัชและนายสัจจะ คงรักษาสุวรรณ ว่าเนื่องจากโจทก์เป็นบริษัทจำกัดมหาชน มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีการจัดทำบัญชีและนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อความโปร่งใส และประกอบกับไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการของโจทก์คนใดถูกกล่าวหาหรือร้องเรียนว่าทุจริต

การกำหนดราคาน้ำมันเป็นหน้าที่ขององค์กรตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของโจทก์ เหตุที่ข้าวของเครื่องใช้ในประเทศมีราคาแพงเป็นเพราะปัจจัยหลายประการ อาทิ การเมืองภายในประเทศ เศรษฐกิจของโลก ภาวะสงคราม เป็นต้น และการส่งคืนท่อก๊าซเป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด แม้เอกสารบางฉบับจำเลยจะอ้างว่าได้มาจากหน่วยงานของโจทก์หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงทางวิชาการด้านพลังงาน นางสาวรสนา โตสิตระกูล หรือสื่อหนังสือพิมพ์ต่างๆ ก็เป็นเพียงข้อมูลที่ยังไม่เป็นที่ยุติ การนำข้อมูลที่ได้มาโดยปราศจากการกลั่นกรองด้วยความเข้าใจที่ถ่องแท้เพื่อกล่าวหาโจทก์โดยปราศจากข้อเท็จจริงที่กระจ่างชัดจึงเป็นการเผยแพร่ข้อความที่เป็นความเท็จ

ประเด็นโรงงานไม่ได้มาตรฐาน ศาลพิจารณาจากการเบิกความของนายชาญศักดิ์ ชื่นชม ว่าการก่อสร้างโรงงานต่างๆ มีสถาปนิกและวิศวกรที่ได้รับอนุญาตและภายใต้กฎหมายที่กำกับเป็นผู้ตรวจสอบดูแล การยื่นขออนุญาตก่อสร้างต้องผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานรัฐตามกฎหมาย ทั้งเมื่อจำเลยร้องเรียนไปยังโจทก์เกี่ยวกับเรื่องความไม่สบายใจของจำเลยต่อฐานรากโรงแยกก๊าซของโจทก์ โจทก์ก็ได้เชิญจำเลยเข้าประชุมร่วมกันและว่าจ้างบริษัทอื่นให้ตรวจสอบความมั่นคงของฐานราก และได้ให้จำเลยเข้าร่วมในการตรวจสอบฐานรากด้วย และแจ้งว่าหากจำเลยประสงค์จะตรวจสอบฐานรากด้วยกล้องวัดระดับก็สามารถทำได้ เมื่อผลการตรวจสอบออกมาว่าฐานรากอยู่ในระดับปกติ ประกอบกับการที่หน่วยงานรัฐออกใบอนุญาตก่อสร้างให้โจทก์จึงเห็นว่าการก่อสร้างโรงงานของโจทก์เป็นไปตามกฎหมายแล้ว จำเลยซึ่งเป็นเพียงวิศวกรชั้นภาคีมีอำนาจออกแบบก่อสร้างโรงงานตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้อย่างจำกัด จึงเห็นได้ว่าจำเลยไม่มีความเข้าใจเรื่องฐานรากอย่างถ่องแท้ ส่วนเหตุการณ์ที่จำเลยกล่าวอ้างก็เป็นเพียงภาพถ่ายการระเบิดหรือทรุดตัวของโรงงานในต่างประเทศ จึงเป็นเพียงเหตุการณ์ที่จำเลยคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นเท่านั้น ข้อความที่จำเลยเผยแพร่จึงเป็นเท็จ

ประเด็นจำเลยกล่าวหาว่าโจทก์เป็นองค์กรล้มเจ้าสนับสนุนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เห็นว่าการที่จำเลยเชื่อมโยงว่าโจทก์ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ Red Power ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์และนายทักษิณ ชินวัตร เป็นการเชื่อมโยงของจำเลยที่ไม่ปรากฏชัดเจน เป็นข้อกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ข้อความของจำเลยจึงเป็นเท็จ

ประเด็นจำเลยกล่าวหาว่าโจทก์เป็นผู้ว่าจ้างกลุ่มคนต่างด้าวทำร้ายผู้ชุมนุมกลุ่มธรรมยาตราและเกี่ยวข้องกับการสังหารนายสุธิน ธราทิน เป็นเพราะจำเลยได้รับทราบข้อเท็จจริงมาจากข่าวโดยปราศจากการกลั่นกรองให้ถ่องแท้และสรุปเอาจากความเข้าใจของจำเลยเองเท่านั้น ข้อความของจำเลยจึงเป็นความเท็จ

ประเด็นการกล่าวหาว่าโจทก์แทรงแซงความอิสระในการทำงานของสื่อมวลชน เห็นว่าเนื่องจากโจทก์เป็นบริษัทใหญ่ประกอบกิจการเกี่ยวกับพลังงานซึ่งมีการแข่งขันสูง จำเป็นต้องมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรเป็นเรื่องปกติทางธุรกิจ การที่โจทก์ลงโฆษณาในสื่อบางรายการที่มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปในทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ไม่เป็นกลางทางการเมืองและแทรกแซงการทำงานของสื่อได้ ข้อความของจำเลยจึงเป็นเท็จ

กรณีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 15 เนื่องจากในการใช้บริการเว็บไซต์เฟซบุ๊กของจำเลย จำเลยย่อมมีฐานะเป็นผู้ใช้บริการเฟซบุ๊ก ต้องเข้าสู่ระบบโดยการสมัครสมาชิกกับเฟซบุ๊ก แม้บุคคลภายนอกจะสามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นในรูปภาพและข้อความของจำเลยได้ แต่บุคคลภายนอกก็ต้องสมัครเป็นสมาชิกของเฟซบุ๊กด้วย จำเลยจึงไม่ใช่ผู้ให้บริการตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ และเป็นการกล่าวเท็จยืนยันข้อเท็จจริงพาดพิงโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย บุคคลทั่วไปที่ได้เห็นข้อความของจำเลยอาจเชื่อได้ว่าสิ่งที่พาดพิงถึงโจทก์เป็นความจริง ที่จำเลยอ้างว่าเป็นความเชื่อโดยสุจริตศาลเห็นว่าข้อความของจำเลยล้วนเป็นการด่าทอด้วยถ้อยคำที่รุนแรง เกิดมาจากข่าวหรือการรับฟังมาจากแหล่งอื่นโดยไม่ตรวจสอบให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต

ทั้งยังปรากฏว่าในการเผยแพร่ข้อความดังกล่าวจำเลยมีการขอรับบริจาคเงินจากบุคคลภายนอกเพื่อนำมาใช้ต่อสู้คดีกับโจทก์ จึงเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือเท็จ เป็นเหตุให้บุคคลอื่นหรือประชาชนได้รับความเสียหาย และเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา

พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 326 มาตรา 328 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14(1) แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกันให้ลงโทษเรียงกระทงความผิด ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.2637/2557 รวม 9 กระทง และตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.4135/2557 รวม 11 กระทง การกระทำของจำเลยในแต่ละกระทงเป็นการกระทำความผิดที่ผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทที่โทษหนักว่าคือมาตรา 14(1) แห่งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

พิพากษาจำคุกกระทงละ 3 เดือน จำเลยให้การเป็นประโยชน์ในทางนำสืบเห็นสมควรให้ลงโทษลงหนึ่งในสามตามกฎหมายคงเหลือกระทงละ 2 เดือน รวมจำคุก 40 เดือน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ที่มา สรุปสาระสำคัญคำพิพากษาคดี ปตท. ฟ้อง แอดมินเพจทวงคืนพลังงานไทย และ Thai Energy Get Back ศาลพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 326 มาตรา 328 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14(1) แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมจำคุก 40 เดือน โดยไม่รอลงอาญา