ต้นทุนขุดเจาะน้ำมัน 1 บาท โคตรมั่ว!!

เป็นการมโนที่โคตรโง่เง่าที่สุดของคนทำข้อมูลนี้ ในการบอกว่าต้นทุนขุดเจาะ 1 บาท แล้วแถมมาเทียบกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่มีทั้งภาษีต่างๆ อีกมากมาย


โดยเฉพาะต้นตอโพสต์ที่ไปจับเอาข้อมูลบางส่วนมาโพสต์
ความเป็นจริงคือ

เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายของ HESS โดยสาระสำคัญที่จับเอามากระเดียดคือ สรุปรายได้และค่าใช้จ่ายในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัท HESS Corp ในปี 2011

เนื่องจากทาง Hess ไม่ได้จำแนกสัดส่วนต้นทุนและค่าใช้จ่ายแต่ละอย่างเป็นรายทวีป มีแค่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในกระบวนการหรือ Production (Lifting) Cost เพียงอย่างเดียวที่แจกแจงตามทวีป ดังนั้น ผมจะลองคำนวณคร่าวๆตามสัดส่วนของค่าใช้จ่ายโดยรวมของค่าใช้จ่ายในแต่ละประเภท (ซึ่งถ้าให้ถูกต้องจริงๆ ต้องใช้ค่าใช้จ่ายแยกตามทวีปทั้งหมด) ดังต่อไปนี้ครับ

ตารางแสดงการคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดตามสัดส่วนของค่าใช้จ่ายรวมและแสดงกำไรสุทธิ ในส่วนของทวีปเอเชีย ของบริษัท Hess Corp. ปี 2011

จะเห็นได้ว่า ค่าใช้จ่ายที่ผมประมาณจากการเทียบสัดส่วนค่าใช้จ่ายโดยรวมนั้น ทำให้ทวีปเอเชีย มีค่าใช้จ่ายทั้งหมดต่อหน่วย BOE ที่ผลิตได้คือ $29.45/BOE และ ภาษีเงินได้ที่ต้องหัก จากข้อมูลของ HESS เอง คิดเป็น 33% ของรายได้สุทธิก่อนหักภาษี สรุปแล้ว HESS จะมีกำไรสุทธิจากปิโตรเลียมในทวิปเอเชียอยู่ที่ $13.7/BOE หรือ 2.5 บาทต่อลิตรเทียบเท่าน้ำมันดิบ* เท่านั้นเองครับ (ทั้งหมดนี้คือค่าประมาณการจากการสัดส่วนค่าใช้จ่ายจากค่าใช้จ่ายรวม ซึ่งถ้าให้ถูกต้องจริงๆ ต้องใช้ค่าใช้จ่ายแยกตามทวีปทั้งหมด)

*อัตราแลกเปลี่ยน 29 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐฯ และ 1 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เท่ากับ 159 ลิตร



ต้นทุนการผลิตปิโตรเลียมที่แท้จริง

ผู้ที่จัดทำรูป ได้เข้าใจผิดและนำต้นทุนส่วนกระบวนการผลิต (Production Cost หรือ Lifting Cost) มาเพียงแค่อันเดียว ซึ่งความเป็นจริงแล้วต้นทุนการผลิตทั้งหมดจะต้องรวม ต้นทุนที่เกิดจากการสำรวจและค้นหา ต้นทุนการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม ต้นทุนการบริหารจัดการ รวมถึงต้นทุนของดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกครับ รูปดังต่อไปนี้เป็นการแสดงยอดขายและต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในส่วนของสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัท Hess Corp ปี 2011

รูปแสดงยอดขายและค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดของบริษัท Hess Corp ในปี 2011



1. Production expenses including related taxes (ค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต หรือ Lifting cost)

ต้นทุนค่าใช้จ่ายนี้คือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายส่วนกระบวนการผลิตเท่านั้น จากคำนิยามที่ทาง HESS ให้ไว้คือ เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนกระบวนการผลิต การซ่อมบำรุงรักษาหลุมผลิต, อุปกรณ์การผลิต รวมค่าขนส่งและส่วนที่เป็นภาษีเพิ่มเติม (เป็นค่าภาคหลวง ผลตอบแทนพิเศษ ส่วนแบ่งกำไร) บางบริษัทจะแยกส่วนที่เป็นค่าภาคหลวงและค่าใช้จ่ายอื่นที่ต้องให้รัฐอีกต่างหาก ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ทาง HESS Corp แยกเป็นส่วนของทวีปเอเชียเท่ากับ $10.62/BOE

2. Exploration expenses, including dry holes and lease impairment (ค่าใช้จ่ายในการสำรวจ)

ต้นทุนค่าใช้จ่ายนี้คือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการสำรวจและขุดเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียมทั้งหมด รวมถึงหลุมที่ไม่พบปิโตรเลียมด้วย ต้นทุนนี้คือต้นทุนส่วนนึงของ Finding Cost

3. General, administrative and other expenses หรือ G&A (ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ)

เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายส่วนของการบริหารจัดการ การดำเนินงาน ธุรการ ค่าจ้างผลตอบแทนพนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ

4. Depreciation, Depletion and Amortization หรือ DD&A (ค่าเสื่อมราคา ค่าสูญสิ้นและค่าตัดการจำหน่าย)

ต้นทุนค่าใช้จ่ายนี้คือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม มันคือส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ในแหล่งปิโตรเลียมที่ค้นพบปริมาณสำรองที่พิสูจน์ได้แล้ว เงินลงทุนก่อสร้างแท่นผลิตต่างๆและขุดเจาะหลุมผลิตตอนพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมจะกลายเป็นสินทรัพย์ เช่น หลุมสำรวจ หลุมผลิต แท่นผลิต เครื่องมืออุปกรณ์การผลิต รวมถึงต้นทุนการรื้อถอน ฯลฯ มูลค่าของพวกนี้จะมีค่าเสื่อมราคาโดยคำนวณโดยวิธีสัดส่วนของผลผลิตตลอดอายุของปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว เมื่อหมดอายุสัมปทาน ของเหล่านี้จะกลายเป็นแค่เศษเหล็กที่ต้องรื้อถอนออกไป ดังนั้น ส่วนนี้คือต้นทุนที่จ่ายแล้วจริงตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม (ส่วนนึงของ Finding Cost เช่นเดียวกัน) แต่ใช้วิธีทยอยตัดรายจ่ายในรูปค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายนั่นเอง ส่วนแหล่งที่พบปริมาณที่ไม่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์สินทรัพย์ทุกอย่างจะถูกตัดการจำหน่ายเป็นค่าใช้จ่ายออกไปทั้งหมด

5. Asset Impairment (การด้อยค่าของสินทรัพย์)

ต้นทุนค่าใช้จ่ายนี้จะคล้ายในส่วนของค่าเสื่อมราคา แต่เกิดจากการที่ราคาตลาดของสินทรัพย์ที่เกิดจากการลงทุนพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม (หลุมสำรวจ หลุมผลิต แท่นผลิต ฯลฯ) ที่ผมอธิบายในส่วนของค่าเสื่อมราคาฯ นั้น มีราคาเปลี่ยนแปลงลดลงมากกว่าความเสื่อมราคาเนื่องจากการใช้งาน สินทรัพย์ที่เรามีล้าสมัยแล้ว (ราคาตก) รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจนมีผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ (กู้เงินมาสร้าง) ถ้าสมมติเราขายสินทรัพย์ (เช่น ขายกิจการ) จะทำให้ขายได้ในราคาต่ำกว่าต้นทุนจริงหลังหักค่าเสื่อมไปแล้ว ดังนั้นต้นทุนนี้คือต้นทุนแฝงในส่วนของ Finding Cost ด้วย

ที่ขาดไม่ได้อีกอันก็คือ

6. Petroleum Income Taxes (ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม)

จะมากน้อยขึ้นอยู่รายได้สุทธิก่อนหักภาษีนั่นเอง และอัตราภาษีก็ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศที่ไปลงทุนด้วย

และการเอามาเทียบกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่นั้นยิ่งคนละส่วน เพราะ ราคาน้ำมันที่ขายแต่ละประเทศโครงสร้างนั้นต่างกัน