ระบบสัมปทาน ทำให้สูญเสียกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียม จริงหรือ?

ประเด็นเรื่อง กรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียม ที่มีผู้นำไปกล่าวถึงในที่ต่างๆ ว่า ในระบบแบ่งปันผลผลิตของเพื่อนบ้านนั้น ปิโตรเลียมที่ขุดพบจะตกเป็นของรัฐ แต่ในขณะที่ระบบสัมปทานไทย ปิโตรเลียมตกเป็นของเอกชนหมดแล้วหลังจากยกสัมปทานให้เขาไป...ฟังแล้วก็เคลิ้มและอาจดูเหมือนว่าเจ้าของทรัพยากรตัวจริงเสียท่า ไม่มีสิทธิในมูลค่าที่ได้จากการขาย และไม่มีสิทธิในการใช้ประโยชน์จากปิโตรเลียมที่ขุดได้จากประเทศตัวเอง...เอกชนหรือบริษัทผู้ขุดเจาะจะทำอย่างไรกับปิโตรเลียมที่ขุดพบนั้นก็ได้ จะขายในราคาไหนก็ได้ จะส่งออกไปก็ได้ ตามใจชอบ....มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ...

สิทธิของผู้รับสัมปทาน ตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม มาตรา 23 54 56 สรุปความได้ว่า ผู้รับสัมปทาน มีสิทธิในการสำรวจ และเมื่อพบในเชิงพาณิชย์ มีสิทธิที่จะทำการผลิต เก็บรักษา ขนส่ง และ ขาย ปิโตรเลียมที่อยู่ในแปลงสัมปทานนั้นได้

สิทธิดังกล่าวนี้ ถ้าจะตีความให้เกิดความเข้าใจผิดว่า กรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมตกเป็นของผู้รับสัมปทานหมดแล้ว ซึ่งความเป็นจริงคงไม่ได้เป็นเช่นนั้น กรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมนี้ หมายถึงอะไร.. มันส่งผลอย่างไรต่อประเทศที่เป็นเจ้าของทรัพยากร

จากข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ปิโตรเลียมที่ขุดได้ในประเทศไทยภายใต้ระบบสัมปทาน แยกเป็น

ก๊าซธรรมชาติ (ผลิตได้ประมาณร้อยละ 62 ของความต้องการใช้) ที่ขุดพบทั้งหมด ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์ภายในประเทศ และซื้อ-ขาย กันในราคาที่ควบคุมโดยคณะกรรมการปิโตรเลียม ตาม มาตรา 58 แห่ง พรบ.ปิโตรเลียม เป็นผลให้ก๊าซที่ผลิตได้ภายในประเทศมีราคาถูกกว่าก๊าซที่ต้องนำเข้าอยู่มาก

ก๊าซธรรมชาติเหลว และ น้ำมันดิบ (ผลิตได้ร้อยละ 15 ของความต้องการใช้) ส่วนใหญ่ถูกใช้ป้อนโรงกลั่นและปิโตรเคมีภายในประเทศ มีเพียงส่วนน้อยที่ต้องส่งออก เนื่องจากไม่สามารถหาตลาดภายในประเทศได้ โดยการซื้อขายน้ำมันจะมีราคาอ้างอิงตลาดโลกตามคุณภาพของน้ำมันดิบ เนื่องจากรัฐเปิดโอกาสให้มีการซื้อขายเสรี แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ประเทศมีความต้องการใช้ รัฐสั่งห้ามผู้รับสัมปทานส่งออกปิโตรเลียมได้ ตาม ม.60 61

ดังนั้นที่เขาบอกว่า สัมปทานไทยกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมตกเป็นของเอกชน หรือ ระบบแบ่งปันผลผลิตกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมเป็นของรัฐ นั้น ในทางปฏิบัติไม่ได้มีความแตกต่างกัน เพราะการดำเนินงานภายใต้สองระบบนี้เมื่อเอกชนสำรวจพบ มีสิทธิ เก็บรักษา ขนส่ง ขาย เหมือนกัน และมูลค่าปิโตรเลียมที่ขายได้ หักต้นทุนแล้ว เหลือเป็นกำไรจะแบ่งกันระหว่างรัฐและเอกชนตามกลไกของแต่ละระบบ และในกรณีที่รัฐมีความต้องการใช้ปิโตรเลียมเพื่อประโยชน์ภายในประเทศก็สามารถทำได้ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ผู้ที่นำประเด็นนี้ไปเล่นคำ เพียงเพื่อสร้างอารมณ์ร่วมในความเป็นเจ้าของทรัพยากร เรียกร้องความสนใจ เป็นการสร้างความเข้าใจผิดและเกิดกระแสต่อต้าน เกลียดชัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ระบบสัมปทานไทยและระบบแบ่งปันผลผลิต อาจมีความแตกต่างกันบ้างในหลักการและรายละเอียดของการปฏิบัติ แต่สามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับศักยภาพปิโตรเลียมที่มีอยู่และนโยบายของแต่ละประเทศได้ทั้งสองระบบ แต่เหตุผลสำคัญที่ประเทศไทยไม่เปลี่ยนไปใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต เนื่องจากศักยภาพปิโตรเลียมของเราแตกต่างกับเพื่อนบ้าน เราเป็นประเทศนำเข้า ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศ พม่า มาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นประเทศส่งออก การเริ่มต้นด้วยการเลือกใช้ระบบสัมปทานเพราะเหตุผลตามที่ได้กล่าวแล้ว คือขาดความพร้อม แม้ในเวลาต่อมาเราจะมีความรู้เพิ่มขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น แต่ในการออกสัมปทานในรอบต่อๆ มาเรากลับค้นพบปิโตรเลียมน้อยลง จึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบ แม้ขณะนี้กลุ่มทวงคืนจะมีความเห็นว่า รายได้รัฐภายใต้ระบบสัมปทานไทยยังไม่เหมาะสมและคิดว่ารัฐได้ส่วนแบ่งน้อยไป ซึ่งในประเด็นนี้ถ้ามีการศึกษาข้อเท็จจริงในหลายๆ มิติแล้วเป็นเช่นนั้นจริง ก็สามารถแก้ไขเก็บเพิ่มได้ตามวิธีดังที่ได้กล่าวแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตให้ยุ่งยาก

โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการออกสัมปทาน มีมากน้อย แค่ไหน ดูได้จากอะไร?
ถ้าวัดความสำเร็จจากจำนวนแปลงที่ประสบความสำเร็จ จากทั้งหมดที่ได้ออกสัมปทานไปแล้ว 20 รอบ จำนวน 155 แปลง ผู้รับสัมปทานได้ทำการสำรวจแต่ไม่พบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ และได้คืนแปลงกลับคืนมาให้รัฐแล้วจำนวน 88 แปลง แปลงที่เหลืออยู่ในช่วงระยะเวลาสำรวจ 35 แปลง และมีแปลงที่ประสบความสำเร็จ สำรวจพบและพัฒนาจนผลิตปิโตรเลียมได้แล้ว 32 แปลง คิดเป็นร้อยละ 21 รายละเอียดของการออกสัมปทานในแต่ละรอบแสดงดังรูปนี้  
สถิติ การออกสัมปทาน

สัมปทานปิโตรเลียม มี 2 ช่วง คือ ช่วงระยะเวลาสำรวจ(กรอบสีน้ำเงิน) และช่วงระยะเวลาผลิต(กรอบสีแดง) ผู้รับสัมปทานจะต้องประสบความสำเร็จในช่วงสำรวจเสียก่อน ถึงเข้าสู่ช่วงระยะผลิตได้ แต่จากสถิติจำนวนแปลงเกือบร้อยละ 80 ไม่สามารถเข้าสู่ช่วงผลิตได้ ต้องสูญเสียเงินลงทุนสำรวจไปเปล่ารวมกันกว่า 7.2 หมื่นล้านบาท