บรรษัทพลังงานแห่งชาติ: สำเร็จ หรือ ล้มเหลว?

บรรษัทพลังงานแห่งชาติ: สำเร็จ หรือ ล้มเหลว?



ประเด็นปัญหาเรื่องการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติยังคงเป็นประเด็นโต้เถียงกันอยู่ในเวลานี้ ตั้งแต่ในสื่อสังคม

ออนไลน์ไปจนถึงสภาหินอ่อน (สนช.) ถึงความเหมาะสมในการจัดตั้งและประสิทธิภาพในการบริหารงานขององค์กรดังกล่าว

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็มักจะยกเอากรณีตัวอย่างบริษัทพลังงานแห่งชาติของเวเนซูเอล่า (Petroleos de Venezuela S.A. หรือ PDVSA)ที่มีการบริหารงานอย่างไร้ประสิทธิภาพและมีการคอร์รัปชั่นจนมีหนี้สินมหาศาล และผลิตน้ำมันได้น้อยลงเรื่อยๆ เพราะขาดเงินทุนและเทคโนโลยีในการผลิตและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดิบชนิดหนักจากแหล่งผลิตในประเทศ จนต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศมาผสมกับน้ำมันดิบในประเทศ ขึ้นมาชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของบริษัทพลังงานแห่งชาติ และนโยบายพลังงานแบบประชานิยมของรัฐบาลสังคมนิยมของอดีตประธานาธิบดี ฮิวโก ชาเวซ ที่ต่อเนื่องมาจนถึงประธานาธิบดีคนปัจจุบัน นิโคลาส มาดูโร ที่สืบทอดนโยบายนี้มาอย่างสุดกู่

โดยทั้งสองรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายบีบบังคับซื้อคืน (ในราคาถูก) หรือยกเลิก (ยึดคืน) สัมปทานการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากบริษัทน้ำมันข้ามชาติมาให้บริษัทพลังงานแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการแทน เพื่อสนองนโยบายขายน้ำมันในราคาถูกๆให้กับประชาชน (ราคาน้ำมันเบนซินถูกที่สุดในโลก) และขายน้ำมันดิบในราคาถูกกว่าราคาตลาดให้กับประเทศพันธมิตรในค่ายสังคมนิยมด้วยกัน เช่น ประเทศคิวบา เป็นต้น

ด้วยนโยบายสังคมประชานิยม (Socio-Populism) ดังกล่าว ประกอบกับความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารและการแทรกแซงทางการเมือง ตลอดจนสถานการณ์ตลาดน้ำมันที่ราคาลดต่ำลงอย่างถล่มทลายเป็นเวลากว่าสองปี ทำให้ประเทศเวเนซูเอล่าตกอยู่ในสภาพเกือบล้มละลาย และต้องยอมทำสัญญาขายน้ำมันดิบล่วงหน้าให้กับจีนเพื่อแลกกับเงินกู้จำนวน 50,000 ล้านเหรียญ ซึ่งเท่ากับว่าขณะนี้เวเนซูเอล่าได้ใกล้จะสูญเสียอธิปไตยด้านพลังงานไปแล้ว เพราะเวเนซูเอล่าจะไม่เหลือน้ำมันไว้ขายให้ลูกค้ารายอื่นอีกต่อไป เนื่องจากราคาน้ำมันขณะนี้ตกต่ำลงมาก เวเนซูเอล่าจึงต้องชดใช้หนี้ด้วยน้ำมันในปริมาณที่สูงขึ้น

เรื่องนี้ พอฝ่ายคัดค้านบรรษัทฯยกตัวอย่างเวเนซูเอล่าโมเดลขึ้นมาชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของบรรษัทพลังงานแห่งชาติ
ฝ่ายสนับสนุนฯซึ่งเคยพูดถึงเวเนซูเอล่าด้วยความชื่นชมมาก่อน ก็เลี่ยงไปกล่าวว่า ความล้มเหลวดังกล่าวไม่ได้เกิดจากตัวบริษัทพลังงานแห่งชาติ แต่เกิดจากนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลและการแทรกแซงจากภายนอกประเทศ และโต้แย้งว่าทำไมยกตัวอย่างแต่เวเนซูเอล่าที่ล้มเหลว ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จอย่างบริษัทเปโตรนาสของมาเลเซีย ทำไมไม่พูดถึงบ้าง เพราะเปโตรนาสส่งเงินเข้ารัฐถึง 40% ของรายได้ของรัฐบาล บริหารกิจการได้อย่างดี มีธรรมาภิบาล จนขยายกิจการไปได้ทั่วโลก และสามารถทำให้ราคาน้ำมันในประเทศมีราคาถูกกว่าประเทศไทยอีกด้วย

ในกรณีของมาเลเซียนั้น ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับบรรษัทฯก็บอกว่า ตามโมเดลของมาเลเซีย บริษัทเปโตรนาสนั้นไม่ใช่บริษัทน้ำมันแห่งชาติธรรมดา แต่ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) และผู้ดำเนินการ (Operator) ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไทย ก็เปรียบเสมือนรวมเอากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและบริษัทปตท.เข้ามาอยู่ในหน่วยงานเดียวกัน แล้วไปขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีเลย

ดังนั้นกำไรของเปโตรนาสจึงสูงกว่า ปตท.มาก เพราะมีรายได้จากค่าภาคหลวงและส่วนแบ่งรายได้ของรัฐจากแหล่งปิโตรเลียมมารวมด้วย (ในขณะที่ของไทยแยกออกเป็นสองหน่วยงาน รายได้ก็แยกกัน) และด้วยรายได้ที่สูงมาก ประกอบกับไม่มีหน่วยงานใดสามารถเข้าไปตรวจสอบบัญชีของเปโตรนาสได้ เพราะขึ้นตรงกับนายกฯ ความเสียหายใดๆที่เกิดขึ้นจึงยังถูกกลบเอาไว้ได้ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นจากการบริหารงาน เพราะก็มีข่าวการลงทุนที่ผิดพลาดของบริษัทเปโตรนาสเล็ดรอดออกมาเป็นประจำ เช่นการไปลงทุนในโครงการรถยนต์แห่งชาติของมาเลเซีย และโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนตามความต้องการทางการเมือง แต่ที่ไม่เป็นข่าวเพราะตรวจสอบไม่ได้ เนื่องจากขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีโดยตรง และล่าสุดเปโตรนาสก็เผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำเช่นกัน จนต้องยอมเลิกอุดหนุนราคาน้ำมัน และส่งกำไรให้รัฐลดลงจาก 40% ของรายได้รัฐเหลือเพียง 20% เท่านั้น
ส่วนเรื่องการบริหารงาน ความโปร่งใส และความมีธรรมาภิบาลนั้น เปโตรนาสก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อครหาเสียทีเดียว แต่ก็มีกรณีที่เข้าไปพัวพันกับกองทุน 1-MDB ที่ก่อตั้งโดยนายกฯมาเลเซียที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต และยังมีกรณีที่เข้าไปพัวพันกับการทุจริตให้สินบนของบริษัท Unaoil รวมทั้งยังมีกรณีที่สมาชิกสภาผุ้แทนราษฎรของมาเลเซียออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฏหมายปิโตรเลียมปี 1974 ให้อำนาจสตง.เข้าไปตรวจสอบบัญชีของเปโตรนาสได้ เพราะทุกวันนี้มีแต่นายกฯคนเดียวเท่านั้นที่มีสิทธ์เข้าถึงบัญชีและรายงานของผู้ตรวจสอบภายในของเปโตรนาสได้ ซึ่งก็แสดงถึงความไม่โปร่งใส และไม่มีธรรมาภิบาลในการบริหารอยู่แล้ว

สรุปก็คือ เรื่องบรรษัทพลังงานนี้ก็คงต้องเถียงกันไปอีกนานละครับว่าจะตั้งดีหรือไม่ดี ตั้งแล้วจะสำเร็จหรือล้มเหลว และด้วยผลประโยชน์มหาศาล จะกลายเป็นแหล่งแสวงหาประโยชน์จากหลายฝ่ายหรือไม่ ซึ่งก็คงเป็นเรื่องที่ต้องไปคิดกันให้ดี แต่ในความเห็นของผม หน่วยงานใดที่ตั้งขึ้นมาแล้วมีอำนาจมาก ผูกขาดการบริหาร ตรวจสอบไม่ได้หรือตรวจสอบได้ยาก และปล่อยให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงได้
หน่วยงานนั้นก็เสี่ยงต่อการทุจริตทั้งนั้นแหละครับ !!!

ที่มา มนูญ ศิริวรรณ บรรษัทพลังงานแห่งชาติ: สำเร็จ หรือ ล้มเหลว?