ความเป็นมา พรบ ปิโตรเลียม ของไทย ที่ไม่ได้มาจากชาวต่างชาติ

เรื่อง “สัมปทานปิโตรเลียม-พ.ร.บ.ปิโตรเลียม” นั้น ในไทยตอนนี้ยังเป็นอีกเรื่องที่ดูจะอึมครึม? ต้องตามดูว่าจะอย่างไรแน่? อย่างไรก็ตาม ย้อนดู ’ความเป็นมา พ.ร.บ.ปิโตรเลียมของไทย“ ก็มีแง่มุมที่น่าคิด...



ทั้งนี้ การบุกเบิกสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในไทยนั้น ประคอง พลหาญ คือหนึ่งในผู้ที่มีส่วนสำคัญ โดยเคยเป็นข้าราชการที่ทำงานเรื่องนี้ ซึ่งบุคคลผู้นี้เป็น 1 ใน 3 คนไทยที่ได้ทุนสหภาพโซเวียตไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยมอสโก โดยจบปริญญาตรีและโท ด้านธรณีวิทยา-ปิโตรเลียม จบเทียบเท่าปริญญาเอกด้านเคมี-ปิโตรเลียม เคยเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรียุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และเคยเป็นอนุกรรมการ ป.ป.ช.ด้วย

เมื่อบุคคลผู้นี้เรียนจบจากมอสโก พจน์ สารสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติในขณะนั้น ได้มอบหมายให้ทำเรื่องกฎหมายปิโตรเลียม สัมปทานสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม ...นี่เป็นจุดเริ่ม “พ.ร.บ.ปิโตรเลียม” ในไทย...

ในปี 2507 เริ่มมีบริษัทน้ำมันสนใจขอสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในไทย ซึ่งกระทรวงพัฒนาการฯ ต้นสังกัดกรมทรัพยากรธรณีที่ ประคอง ทำงานอยู่ เห็นว่าควรประกาศให้บริษัทต่าง ๆ แข่งขันกัน โดยมี กติกาที่เป็นสากล จึงตั้งคณะกรรมการวางหลักเกณฑ์ขอสำรวจ โดยมี รมว.พัฒนาการฯ เป็นประธาน ซึ่งได้จัดทำหลักเกณฑ์ขึ้นโดยศึกษากฎหมายปิโตรเลียมในประเทศอื่น ๆ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้เห็นชอบในเดือน ก.ย. 2508

ต่อมาคณะกรรมการฯ เห็นว่าควรมีรายละเอียดเพิ่ม เช่น การคิดมูลค่าที่ใช้เก็บค่าภาคหลวง-ภาษีเงินได้ การแบ่งผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับผู้ประกอบการ ทางกระทรวงพัฒนาการฯจึงขออนุมัติ ครม. และได้รับอนุมัติในเดือน เม.ย. 2509 ให้จ้างบริษัทจากสวิตเซอร์แลนด์ เป็นที่ปรึกษากำหนดรายละเอียดร่วมกับคณะกรรมการฯ

จนเป็นที่มา “พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514”

นอกจากนี้ กรมทรัพยากรธรณีได้ขอผู้เชี่ยวชาญจากกรมสรรพากร กรมอุทกศาสตร์ ได้รวมคนเก่งหลายสาขาร่างเงื่อนไข “สัมปทานปิโตรเลียม” ที่รัฐได้ผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมมากที่สุด ขณะเดียวกันก็อำนวยความสะดวกเอกชน ดึงดูดให้ต่างชาติสนใจลงทุน และยอมรับความเสี่ยงกรณีที่สำรวจไม่พบปิโตรเลียม

“มีการแบ่งแปลงพื้นที่สำรวจ... พื้นที่แปลงสำรวจที่เปิดให้สัมปทานส่วนใหญ่อยู่ในอ่าวไทย ซึ่งรอบแรกที่เปิดประมูลสัมปทาน มีบริษัทต่างชาติที่ได้รับสัมปทาน 6 บริษัท...” ...ทาง ประคอง ให้ข้อมูลไว้ ซึ่งในช่วงแรก ๆ ของการขุดสำรวจปิโตรเลียมในไทยนั้น จะเน้นที่การค้นหา น้ำมัน เป็นหลัก จะไม่ค่อยได้สนใจ ก๊าซธรรมชาติ

ด้วยเหตุนี้จึงมีการเผาก๊าซทิ้งเสียของไปมาก ซึ่ง ประคอง ได้เสนอการไฟฟ้าให้รับซื้อก๊าซเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า หรือนำไปเป็นก๊าซหุงต้มขายให้ประชาชนใช้ในราคาถูก และภายหลังก็มีการสร้างท่อก๊าซจากอ่าวไทยมาที่โรงแยกก๊าซบนบก มีการตั้ง องค์กรก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย รับซื้อก๊าซผลิตไฟฟ้า และบรรจุถังเป็น LPG ขาย โดยต่อมาองค์กรนี้ได้ยุบรวมตั้งเป็น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. ในปี 2521

ทั้งนี้ หลังเปิดสัมปทานครั้งแรก ก็ ทำให้ไทยเข้าสู่ยุคโชติช่วงชัชวาล มีก๊าซผลิตไฟฟ้า มีก๊าซหุงต้มราคาถูก และ เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านปิโตรเคมี อย่างก้าวกระโดด นำสู่โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด แหล่งนิคมอุตสาหกรรม เช่น นิคมฯมาตาบพุด นิคมฯระยอง ที่ปัจจุบันมีมูลค่าส่งออกสินค้าหลายล้านล้านบาท

สำหรับกองงานที่ ประคอง พลหาญ รับผิดชอบ ก็พัฒนาขึ้น โดยแยกออกเป็นกองเชื้อเพลิงธรรมชาติ ปัจจุบันได้ยกระดับเป็นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ขณะที่บุคคลผู้นี้ก็ยังมีบทบาทในฐานะอาจารย์ วางรากฐานการสร้างบุคลากรด้านเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาเหมืองแร่ และปิโตรเลียม, คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นผู้จดทะเบียน สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย เพื่อให้ความรู้ วิชาการ ยกระดับมาตรฐานวิชาชีพธรณีวิทยา

ประคอง เล่าไว้ว่า... ยุคนั้นก็มีการพิจารณาระบบอื่น เช่น แบ่งปันผลผลิต แต่เมื่อศึกษา-ดูเหตุผลต่าง ๆ ในช่วงนั้น ก็พบว่าสัมปทานเป็นระบบที่เหมาะสมที่สุด เพราะ รัฐไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องเสี่ยง และเป็นการดึงดูดต่างชาติมาลงทุน เกิดการใช้จ่าย จ้างงาน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และยังมีการนำเข้าและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่คนไทย โดยมีเพียงเงื่อนไขสำคัญคือ รัฐบาล ภาครัฐ ดูแลควบคุมบริษัทที่ได้สัมปทานให้ดำเนินการอย่างถูกต้อง

ส่วนการสำรวจปริมาณปิโตรเลียมสำรองในการเปิดสัมปทานรอบต่อไป กองเชื้อเพลิงธรรมชาติในช่วงนั้นได้ว่าจ้างบริษัทสำรวจรวมข้อมูลจากบริษัทต่าง ๆ ที่ได้สัมปทาน ซึ่งเบื้องต้นพบว่าปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทยนั้นมีไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นแหล่งก๊าซมากกว่าน้ำมัน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ หากเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ กระตุ้นให้มีการค้นหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ ๆ ก็อาจจะพบปริมาณสำรองที่มากขึ้น

ทั้งนี้ ต่าง ๆ เหล่านี้ก็น่าจะบ่งชี้ว่า... "พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514" มิใช่กฎหมายที่กำเนิดจากการกะเกณฑ์โดยต่างชาติ มิใช่ใบเบิกทางให้ต่างชาติเข้ามาปล้นทรัพยากรหรือผลประโยชน์ในประเทศไทย เป็น พ.ร.บ.ที่ตัดสายสะดือทำคลอดโดยคนไทย เพื่อผลประโยชน์ไทย แล้วผ่านการแก้ไขจนทันสมัย...
เป็น ’กติกาสากล“ ที่ยอมรับกันทั่วโลก!!.

ที่มา เดลินิวส์