นักวิชาการมองสัมปทานปิโตรฯต้องผลิตต่อเนื่อง บรรษัทพลังงานแห่งชาติไม่จำเป็น

นักวิชาการแนะรัฐบาลเร่งต่ออายุสัมปทานที่กำลังหมดอายุลงในปี 2565-2566 หวั่นล่าช้ากระทบความมั่นคงด้านพลังงาน

ขอบคุณภาพจาก INN

วันนี้ (22มิ.ย.59) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานสัมมนาให้ความรู้สื่อมวลชน หัวข้อ “ผลกระทบและทางออกสัมปทานปิโตรเลียมหมดอายุ” ซึ่งจัดขึ้นโดย สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ นักวิชาการด้านพลังงาน ได้เสนอให้ภาครัฐเร่งต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียม ที่กำลังหมดอายุลงในปี 2565 -2566 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการผลิต เนื่องจากก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญในหลายอุตสาหกรรม และเป็นหัวใจหลักของพลังงานไทย

ด้านนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมา ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยร้อยละ 60 มาจากแหล่งสัมปทานในอ่าวไทยที่กำลังจะหมดอายุ ดังนั้น หากการผลิตไม่ต่อเนื่องจะส่งผลต่อความมั่นคงด้านพลังงานที่ผ่านมา ภาครัฐจึงได้อนุมัติให้สร้างคลัง แอลเอ็นจี เพิ่ม เพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีในอนาคต หากการเปิดประมูลสัมปทานรอบใหม่ล่าช้า

นายธิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อุตสาหกรรมต้นน้ำการผลิตก๊าซธรรมชาติ มีความจำเป็นสำหรับประเทศไทยที่จะช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยแนวทางในการต่ออายุเป็นรูปแบบใดนั้น ไม่สำคัญเท่ากับการผลิตที่ต่อเนื่อง และเพียงพอต่อความต้องการ การให้ผลตอบแทนรัฐ ไม่จำเป็นเท่ากับการมีทรัพยากรที่เพียงพอกับการนำไปใช้

อย่างไรก็ตาม มองว่าการตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ อาจไม่จำเป็น เพราะจะมีภาระต้นทุนโดยไม่มีรายได้ เพราะประเทศไทยผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อการส่งออกน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ โดยมีรัฐบาลเป็นเจ้าของ จึงไม่จำเป็นต้องมีบริษัทน้ำมันแห่งชาติ

ทั้งนี้ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย สร้างรายได้ให้กับประเทศกว่า 600,000 ล้านบาทต่อปี หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6 ต่อจีดีพี หากก๊าซในอ่าวไทยมีปริมาณลดลงจะเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมี ดังนั้นบริษัทในเครือปตท. จึงเร่งศึกษาการนำแนฟทาแคล็กเกอร์ มาใช้ทดแทน ได้แก่ ก๊าซ แอลเอ็นจี น้ำมันเตา และ น้ำมันดีเซล ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแพงขึ้น และส่งผลต่อราคาไฟฟ้าของประเทศ
ทั้งนี้ แหล่งสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุในปี 2565-2566 ทั้งเอราวัณ และบงกช จะมีกำลังการผลิตลดลงเนื่องจากผู้รับสัมปทานรายเดิมจะไม่มีการลงทุนเพิ่ม เพราะไม่คุ้มทุน ดังนั้นในปี 2564 จะเป็นช่วงที่มีความสุ่มเสี่ยงด้านความมั่นคงทางไฟฟ้า หากไม่สามารถเปิดประมูลสัมปทานต่ออายุสัมปทานได้ภายในปีหน้า

ที่มา สำนักข่าว, INN TNN24