การส่งออกน้ำมันดิบของไทยไม่ได้มีใครโกหกใคร

ความจริงแล้ว เรื่องนี้ได้มีการชี้แจงและอธิบายกันหลายครั้งแล้ว ทั้งจากทางราชการ ผู้ประกอบการ และนักวิชาการที่มีความเข้าใจในธุรกิจปิโตรเลียมอย่างแท้จริง แต่เนื่องจากเป็นเรื่องทางเทคนิคของธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และธุรกิจการกลั่นน้ำมัน จึงเป็นเรื่องที่อาจเข้าใจยาก และต้องทำความเข้าใจกันบ่อยๆ อยู่สักหน่อย



ธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและธุรกิจการกลั่นน้ำมัน เป็นธุรกิจสากลที่มีมาตรฐานการปฏิบัติเหมือนกันทั่วโลก นั่นคือน้ำมันดิบที่ผลิตได้จากแต่ละแหล่งนั้น มีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน ถึงแม้จะอยู่ใกล้กันก็ตาม และโรงกลั่นแต่ละโรงนั้น ก็ได้รับการออกแบบให้กลั่นน้ำมันที่มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ถ้าจะกลั่นน้ำมันดิบที่มีคุณภาพแตกต่างกันมากๆ และกลั่นน้ำมันดิบได้ทุกชนิด โรงกลั่นฯจะต้องลงทุนในการปรับปรุงกระบวนการกลั่นและติดตั้งอุปกรณ์เป็นเงินสูงมาก ซึ่งอาจไม่จำเป็นและไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ตลอดจนน้ำมันดิบที่นำเข้ากลั่นก็ต้องคัดเลือกชนิดที่ตรงกับความต้องการของตลาดและกลั่นแล้วได้ประสิทธิภาพสูงสุด คือได้น้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดต้องการในปริมาณที่ดีที่สุด และได้รับผลตอบแทนสูงสุด (high yield/high return)

ดังนั้น โรงกลั่นฯในยุโรปและสหรัฐอเมริกา จึงได้รับการออกแบบให้กลั่นน้ำมันดิบชนิดเบา กำมะถันต่ำ หรือที่เรียกว่า Light Sweet Crude เพราะกลั่นแล้วได้น้ำมันเบนซินเยอะ แต่ดีเซลน้อย ซึ่งตรงกับปริมาณการใช้เพราะประเทศแถบนี้ใช้น้ำมันเบนซินมากกว่าดีเซล และอาจติดตั้งอุปกรณ์ในการกำจัดโลหะหนักไว้ตั้งแต่แรก

ที่มา คุยเฟื่องเรื่องพลังงาน

ในขณะที่โรงกลั่นฯในแถบเอเชีย มักจะได้รับการออกแบบให้กลั่นน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นน้ำมันดิบชนิดคุณภาพปานกลาง หรือที่เรียกว่า Medium Light Crude ซึ่งกลั่นแล้วได้น้ำมันดีเซลเยอะกว่าเบนซิน ซึ่งตรงกับปริมาณการใช้ในภูมิภาคนี้ที่ใช้ดีเซลมากกว่าเบนซิน และไม่จำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์ในการกำจัดโลหะหนัก เพราะน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางชนิดที่โรงกลั่นแถบนี้นิยมใช้ไม่มีโลหะหนักผสมอยู่ หรือถ้ามีก็มีในปริมาณที่น้อยมาก

ดังนั้น ถ้าประเทศใดผู้ประกอบการขุดพบน้ำมันดิบที่ไม่ตรงกับความต้องการของโรงกลั่นฯ ในประเทศ แต่เป็นที่ต้องการของต่างประเทศ ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ประกอบการก็คือ ส่งออกน้ำมันดิบชนิดนั้นไปขายต่างประเทศ ซึ่งก็เป็นการดีสำหรับประเทศชาติและรัฐบาลด้วย เพราะทำให้ประเทศมีรายได้จากการส่งออก และรัฐบาลก็เก็บค่าภาคหลวงและภาษี ได้สูงกว่าบังคับให้ผู้ประกอบการขายให้โรงกลั่นฯในประเทศ เพราะในเมื่อน้ำมันดิบมีคุณสมบัติไม่ตรงกับที่โรงกลั่นฯอยากได้ โรงกลั่นฯก็ต้องรับซื้อในราคาถูก ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้น้อยลง เพราะค่าภาคหลวงและภาษีเก็บเป็นร้อยละของราคาขายและกำไร
ซึ่งเรื่องแบบนี้เขาก็ทำกันทั่วโลกครับ แม้แต่ในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่มีผู้ชอบหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างอยู่เรื่อยๆ เขาก็มีการส่งออกน้ำมันดิบคุณภาพดี แต่ไม่เหมาะสมกับใช้กลั่นในประเทศออกไปขายต่างประเทศ แล้วนำเข้าน้ำมันดิบที่มีคุณภาพเหมาะสมกับโรงกลั่นฯเข้ามากลั่นแทน ก็ไม่เห็นที่ไหนจะมีปัญหาเหมือนกับประเทศไทยเลย (ประเทศไทยเราใช้ดีเซลเยอะกว่าชนิดอื่น จึงต้องนำเข้าน้ำมันมากลั่นเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ในประเทศ)



น้ำมันดิบที่ผลิตได้ส่วนใหญ่ (95%) ก็ส่งให้โรงกลั่นฯในประเทศหมด ปริมาณส่งออกมีน้อยมาก (ประมาณ 5% เท่านั้น) และน้ำมันดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศก็ไม่ได้มีราคาแพงกว่า เพราะเป็นน้ำมันดิบคนละชนิดกันกับที่ส่งออก (อาจจะถูกกว่าด้วยซ้ำไป)

ตัวอย่างต่อไปนี้เป็นการบริหารจัดการน้ำมันดิบให้เหมาะสมกับโรงกลั่นเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ตามความต้องการใช้ภายในประเทศ โดยสมมุติให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบมีค่าเฉลี่ยเป็นไปตามสมมุติฐานแล้วแต่กรณี

ในกรณีที่ 1 สมมุติให้นำเข้าน้ำมันดิบชนิดที่ 1 เพียงชนิดเดียว มากลั่นจะได้ผลิตภัณฑ์เป็นน้ำมันดีเซลร้อยละ 41 ได้น้ำมันเบนซินร้อยละ 19 และที่เหลือเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ดังแสดงในรูปตาราง การนำเข้าน้ำมันมากลั่นนี้เพื่อสนองความต้องการใช้น้ำมันดีเซลภายในประเทศเป็นหลัก คือ ประมาณ 352,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 56 ล้านลิตรต่อวัน โดยต้องนำเข้าน้ำมันดิบชนิดนี้ประมาณ 858,537 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเมื่อกลั่นแล้วจะได้น้ำมันดีเซลพอดีความต้องการใช้ แต่ต้องส่งออกน้ำมันเบนซินอีกกว่า 5 ล้านลิตรต่อวัน เพราะกลั่นได้เกินความต้องการ และต้องนำเข้าน้ำมันเครื่องบินอีก 1.5 ล้านลิตรต่อวัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้..เป็นต้น

จากตัวอย่างดังกล่าว จะพบว่า แม้ความต้องการน้ำมันดีเซลภายในประเทศมีเพียง 352,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 56 ล้านลิตรต่อวัน แต่ต้องนำน้ำมันดิบชนิดที่ 1 เข้ามากลั่นมีปริมาณสูงกว่า 8 แสนบาร์เรลต่อวัน

ในกรณีที่ 2 สมมุติให้นำเข้าน้ำมันดิบชนิดที่ 2 ซึ่งกลั่นแล้วได้ผลิตภัณฑ์เป็นน้ำมันดีเซลร้อยละ 33.5 ได้น้ำมันเบนซินร้อยละ 25.5 และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ดังแสดงในรูป การนำเข้าน้ำมันมากลั่นนี้เพื่อสนองความต้องการใช้น้ำมันดีเซลเป็นหลัก คือ ประมาณ 352,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 56 ล้านลิตรต่อวัน โดยต้องนำเข้าน้ำมันดิบชนิดนี้ประมาณ 1,050,476 บาร์เรลต่อวัน และเมื่อกลั่นแล้วจะได้น้ำมันดีเซลพอดีความต้องการใช้ แต่ต้องส่งออกน้ำมันเบนซินและน้ำมันเครื่องบิน อีก 22 และ 4.2 ล้านลิตรต่อวัน ตามลำดับ เพราะกลั่นได้เกินความต้องการใช้

จากตัวอย่างดังกล่าว จะพบว่า เพื่อสนองความต้องการใช้น้ำมันดีเซลภายในประเทศ 352,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 56 ล้านลิตรต่อวัน แต่ต้องนำน้ำมันดิบชนิดที่ 2 เข้ามากลั่นมีปริมาณสูงถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน        

ในกรณีที่ 3 สมมุติให้นำเข้าน้ำมันดิบมากกว่า 1 ชนิด คือนำเข้าน้ำมันดิบชนิดที่ 1 และ 2 ตามที่กล่าวไปแล้ว โดยนำเข้าน้ำมันชนิดที่ 1 ประมาณ 750,000 บาร์เรลต่อวัน และชนิดที่ 2 อีก 100,000 บาร์เรลต่อวัน จะได้ผลิตภัณฑ์รวมกันตามรูปตาราง ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำมันดีเซลและเบนซินเกินความต้องการใช้ แต่ต้องนำเข้าน้ำมันเครืองบิน รายละเอียดตามรูป

กรณีต่างๆ นี้ เป็นเพียงตัวอย่างที่นำมาประกอบให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น เรื่องการบริหารจัดการน้ำมันให้มีความเหมาะสมกับโรงกลั่นเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ตรงตามความต้องการใช้ภายในประเทศให้ได้มากที่สุด แต่เอาเข้าจริงๆ ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่เกี่ยวข้อง เช่น แหล่งที่มาของน้ำมันที่หลากหลาย ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ที่กลั่นได้ ความสามารถและประสิทธิภาพในการกลั่นของแต่ละโรง ระยะเวลานำเข้า ส่งออก สต๊อกน้ำมันดิบ สต๊อกน้ำมันสุก ความต้องการใช้รายวัน ราคา กำไร และ อื่นๆ ซึ่งมันไม่ได้ง่ายเหมือนการนำเอาตัวเลขการใช้น้ำมันสุก ตัวเลขการผลิตและการนำเข้าน้ำมันดิบมาบวกลบกันตรงๆ ได้ อย่างที่หลายท่านเข้าใจกัน ทำให้เกิดความสงสัยในเรื่องปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่มากเกินความจำเป็น และการบริหารจัดการของโรงกลั่นให้ได้น้ำมันสำเร็จรูปพอดีกับความต้องการในแต่ละวัน คงไม่สามารถทำได้ จึงต้องมีการนำเข้าและส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปตามความเหมาะสมในช่วงเวลานั้นๆ