สุดมั่วเรื่องบทความฉะวงการพลังงานสุดฉ้อฉล คิดจะฉะ ข้อมูลยังผิด

สุดมั่วเรื่องบทความฉะวงการพลังงานสุดฉ้อฉล คิดจะฉะ ข้อมูลยังผิด


ระบบจัดเก็บรายได้สัมปทานไทย จากกิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มี 2 ระบบ คือ

  • ระบบ Thailand I เก็บค่าภาคหลวง(12.5%) และ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (50%) บังคับใช้กับแปลงสำรวจที่ออกให้ไปในช่วงปี  2514-2532 และบังคับใช้มาถึงปัจจุบันกับแปลงที่ยังดำเนินงานอยู่ซึ่งทุกแปลงอยู่ในช่วงผลิต
  • ระบบ Thailand III เป็นกฎหมายปัจจุบัน ได้จากการ แก้ไข ปรับปรุง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม ในปี 2532 (ไม่ใช่รัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ นะครับ) บังคับใช้กับแปลงสำรวจที่ออกภายหลังปี 2532 โดย เก็บค่าภาคหลวง(5-15%) เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ(SRB) (0-75%) และ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม(50%)


จากทั้งสองภาพที่นำมาเสนอ กล่าวสรุปได้ว่า รัฐมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นกับแหล่งขนาดเล็กทำให้สามารถพัฒนาได้ในเชิงพาณิชย์ และจะเก็บรายได้เข้ารัฐเพิ่มมากขึ้นเมื่อพบแหล่งขนาดใหญ่ หรือ โครงการมีกำไรเกินควร และถ้าดูเฉพาะตัวเลขค่าภาคหลวงในระบบ Thailand III รัฐเก็บได้ 11.9% จากมูลค่าปิโตรเลียมที่ขาย ดังนั้น ที่กล่าวว่ารัฐจัดเก็บจริงได้เพียง 7% จึงไม่เป็นความจริง


เมื่อกล่าวถึง ระบบการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ ภาพรวม รายได้รัฐต่อรายได้บริษัท ในแต่ละโครงการของทั้งสองระบบ โดยโครงการที่อยู่ในระบบ Thailand III ตัวเลขแสดงด้วยสีแดงและชื่อโครงการอยู่ในกรอบสีน้ำเงิน จากภาพแสดงให้เห็นว่า แม้ระบบจัดเก็บที่ได้รับการแก้ไขในปี 2532 เพื่อให้เก็บได้มากขึ้น แต่ในความเป็นจริง แปลงที่ออกให้ไปหลังปี 2532 กลับพบปิโตรเลียมน้อยมาก พบเพียงแหล่งขนาดเล็ก มีเพียงโครงการเดียวที่เข้าข่ายแหล่งขนาดกลางถึงใหญ่ คือ โครงการทานตะวัน-เบญจมาศ ซึ่งผลดำเนินงาน รายได้รัฐต่อรายได้บริษัท อยู่ที่ 69:31 ตามรูปนี้


เปิดสัมปทานไปแล้ว 20 รอบ ไม่รู้ว่าปริมาณ น้ำมัน และ ก๊าซ ที่ขุดเจาะกันไปนั้น ไม่มั่นใจว่าเป็นตัวเลขจริงหรือไม่ ภาคประชาชนต้องเข้าไปตรวจสอบได้... ตั้งข้อสังเกตุว่า สัมปทานมีช่องโหว่ โดยได้ส่งคนไปอัดวีดีโอ เช็ครถ และ เรือ ที่ขนน้ำมัน คำนวณดูแล้วแตกต่างจากตัวเลขที่ทางราชการรายงาน

การผลิตก๊าซที่มีความดันสูง ระบบการผลิตจากหลุมผลิตจนถึงจุดซื้อขายเป็นระบบปิด ไม่มีการลักลอบไปไหนได้ และแต่ละจุดมีมาตรวัดปริมาณ ตรวจสอบได้ทุกเวลา มีบันทึกต่อเนื่อง มีมาตรฐานรองรับ

การผลิตน้ำมันดิบ จากหลุมผลิต ผ่านกระบวนการผลิต เก็บเข้าถังหรือเรือกักเก็บ มีการตรวจวัดปริมาณการผลิต ปริมาณกักเก็บสะสม ทุกวัน มีมาตรฐานรองรับ มีการตรวจวัดปริมาตรในถังกักเก็บ ก่อนและหลังซื้อขาย รถขนส่งมีการตรวจสอบก่อนออกจากแหล่ง และ ก่อนเข้าโรงกลั่น มีระบบจีพีเอสติดตาม สำหรับในทะเล เรือขนถ่ายที่จะเข้ามารับน้ำมันจากเรือกักเก็บ จะต้องได้มาตรฐานเรื่องความปลอดภัย การขนถ่าย มีหลายหน่วยงานที่ต้องเกี่ยวข้องโดยเฉพาะถ้าต้องส่งออกและมีเจ้าหน้าที่รัฐกำกับดูแลในเรื่องปริมาณขนถ่าย ทั้งหมดที่กล่าวมารายละเอียดอ่านได้ตามลิงค์ สงสัยสอบถามได้ครับ

ลิงค์ กฎกระทรวง ฉบับที่ 12 ว่าด้วยเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการผลิตปิโตรเลียม
http://law.dmf.go.th/detail.php?lan=th&itm_no=I673760911

การผลิตปิโตรเลียม มีมาตรฐานสากลรองรับ เช่น AMERICAN PETROLEUM INSTITUTE (API) และ AMERICAN SOCIETY FOR TESTING AND MATERIALS (ASTM) ทั้งวิธีการ ติดตั้ง ตรวจสอบ มาตรวัด ปริมาณก๊าซ และ น้ำมัน มีหลักเกณฑ์วิธีการ เขียนไว้ชัดเจนแล้ว ต้องอ่านนะครับถึงจะรู้ แค่ฟังเขาว่ามา คงไม่ได้แล้ว และการนั่งนับรถบรรทุกวิ่งเข้าวิ่งออกโดยไม่รู้ว่าเขาบรรทุกอะไร น้ำหรือน้ำมัน บรรทุกไปไหน การเอาเรือไปเฝ้าสังเกตุการ มีความน่าเชื่อถือหรือ....

สถานที่ประกอบกิจการ เป็นเขตปลอดภัย คงไม่ปล่อยให้ใครก็ได้เดินเข้าไปตรวจสอบเอง ประชาชนหลายล้านคน ถ้าเกิดสงสัยกันหมด คงวุ่นวายน่าดูครับ ผมว่าถ้าต้องการตรวจสอบจริง แนะนำให้ทำหนังสือแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ ขอเข้าไปดูน่าจะเป็นประโยชน์กว่าครับ


อันนี้เป็นลิงค์ การจัดหาปิโตรเลียม เขาไม่ได้ปกปิดนะครับ แต่การนำไปใช้ต้องมีความเข้าใจด้วย เดี๋ยวตัวเลขจะไม่ตรงกันอีก ที่ยกมานี้ เป็นตัวเลขซื้อขาย จะน้อยกว่า ตัวเลขผลิตอยู่นิดหน่อย....
http://www.dmf.go.th/index_pad.php?act=service&sec=yearSupply  

อุปกรณ์ วัสดุเหล็กทุกท่อนที่ประกอบเป็นแท่น ในระบบสัมปทานไม่ได้เป็นของประเทศไทย ไม่เหมือนระบบต่างประเทศที่ตกเป็นของรัฐ ดังนั้น เมื่อหมดสัญญาสัมปทานรัฐจะทำเองก็ไม่ได้เพราะเขาถอนอุปกรณ์ทั้งหมดกลับไป เราต้องเริ่มใหม่

กฎกระทรวงฉบับที่ 17 ในแบบสัมปทาน ระบุไว้ชัดเจนแล้ว สรุป สั้นๆ ว่า เมื่อสิ้นระยะเวลาผลิต หรือ สิ้นสุดสัมปทาน อุปกรณ์ทุกอย่างที่รัฐต้องการจะตกเป็นของรัฐเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไปครับ ส่วนอุปกรณ์ที่รัฐไม่ต้องการ ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่ต้องทำการรื้อถอนออกไป ดังนั้น สิ่งที่กล่าวในเนื้อข่าวจึงไม่เป็นความจริง

http://law.dmf.go.th/detail.php?lan=th&itm_no=I488122220
กทธ/ป2  ข้อ 15

ส่วนเรื่องการอ้างไปถึงว่าเป็นการให้เอกชนมีรายได้เยอะทำให้รายได้รัฐน้อยก็ไม่เป็นจริงอีก

ผลกำไร ขาดทุน ของโครงการหนึ่งๆ มันขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง? แน่นอน ต้องขึ้นอยู่กับ รายได้ ซึ่งเกิดจากปริมาณและชนิดของปิโตรเลียมที่ผลิตได้คูณกับราคาที่แปรผันไปตลอดเวลา รายจ่ายที่เป็นเงินลงทุนตามความยากง่าย แตกต่างกันไป ดังนั้น ในแต่ละโครงการจึงมีผลกำไร ขาดทุน แตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยดังกล่าว ที่นี้ถ้ามาพูดถึง รายได้รัฐ ที่แบ่งเอาจากค่าภาคหลวงโดยไม่สนว่าโครงการจะมีกำไรหรือไม่ ภาษีปิโตรเลียมจากกำไรสุทธิ และ เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ(SRB) เรียกเก็บจากกำไรเกินควรซึ่งบางโครงการก็มีบางโครงการก็ไม่มี รายได้ของรัฐจาก 3 รายการนี้ มีรายละเอียดในการเรียกเก็บแตกต่างกันไปในแต่ละโครงการขึ้นอยู่กับสถานะของโครงการ ดังนั้น เมื่อรวมรายได้รัฐจากโครงการต่างๆ ไม่มีทางที่จะออกมาตรงกันได้ จะแตกต่างกันไปตามสภาพของปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น

จึงสรุปได้ว่า รายได้รัฐ ต่อ กำไรบริษัท ภายใต้ระบบ Thailand III ไม่จำเป็นต้องออกมาตรงกันทุกโครงการ แต่ต้องออกมาในลักษณะที่ รัฐได้มากกว่า มากกว่าเท่าไร ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังตัวอย่างที่แสดงในภาพ


ความมั่วของบทความ http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9570000032804