อธิปไตยและอิสรภาพทางพลังงาน(1)

กลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ออกมาแถลงคัดค้าน(อีกที) ต่อร่างแก้ไขพรบ.ปิโตรเลียมสองฉบับของกระทรวงพลังงานที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคระรัฐมนตรีและที่ประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระที่หนึ่งไปเรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการเปิดให้มีการแปรญัตติของคณะกรรมาธิการวิสามัญก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่สองต่อไป



เนื้อหาของการคัดค้านที่สำคัญก็คือ กลุ่มคปพ.เห็นว่าแม้ร่างแก้ไขพรบ.ดังกล่าวจะได้เพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) และระบบจ้างผลิต (Service Contract-SC) ไว้ในร่างแก้ไขพรบ.แล้วก็ตาม แต่กฏหมายก็ยังเปิดช่องให้สิทธิในการบริหารและขายปิโตรเลียมยังคงตกอยู่ในมือเอกชนเช่นเดิม โดยรัฐทำหน้าที่รอรับผลประโยชน์จากรายได้ที่เอกชนขายปิโตรเลียมได้ตามส่วนแบ่งที่ตกลงกัน

ซึ่งตรงนี้ทางฝ่ายคปพ.เห็นว่าร่างพรบ,ฉบับนี้ยังไม่สามารถนำอธิปไตยและอิสรภาพทางพลังงานกลับคืนมาให้ประเทศชาติอย่างแท้จริง

ในความคิดของกลุ่มคปพ. เพื่อให้เรามีอธิปไตยและอิสรภาพทางพลังงานดังกล่าวอย่างแท้จริง รัฐจะต้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในการบริหารและขายปิโตรเลียมเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบจ้างผลิตนั้นรัฐจะต้องดำเนินการเองทั้งหมด100% โดยเอกชนจะรับแต่เพียงค่าจ้างผลิตเท่านั้น

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว คปพ.จึงเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นเพื่อบริหารจัดการในเรื่องนี้ ดังนั้นการที่ร่างแก้ไขพรบ.ปิโตรเลียมฯไม่บัญญัติเรื่องการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นตามที่คปพ.เรียกร้อง จึงเท่ากับเป็นการยกอธิปไตยในการขายปิโตรเลียมที่ผลิตได้ให้กับเอกชน

จะเห็นได้ว่าเนื้อหาสำคัญๆที่กลุ่มคปพ.คัดค้านร่างแก้ไข พรบ.ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานที่กำลังพิจารณากันอยู่ในสภาฯมีอยู่เพียงสองเรื่องใหญ่ๆเท่านั้น คือ เรื่องการบริหารจัดการปิโตรเลียมที่รัฐต้องเป็นคนบริหารจัดการเองโดยถือเป็นเรื่องอธิปไตยทางพลังงาน และเรื่องการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติเพื่อรองรับการบริหารจัดการนั้น

สำหรับเรื่องแรก ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า ถ้ารัฐไม่ได้บริหารจัดการปิโตรเลียมที่ได้มาด้วยตนเอง จะถือว่าเราไม่มีอธิปไตยและอิสรภาพทางพลังงานจริงหรือเปล่า หรือเป็นแค่วาทกรรมปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมให้คุกรุ่นขึ้นมาเท่านั้น

การบริหารจัดการปิโตรเลียมที่ผลิตได้ในประเทศนั้นมีหลายรูปแบบและหลายวิธี ไม่จำเป็นว่ารัฐจะต้องเป็นผู้บริหารจัดการเองเสมอไป แต่หลักการสำคัญคือต้องเน้นหลักความเป็นมืออาชีพ มีประสิทธิภาพ ได้ประโยชน์สูงสุด และโปร่งใสตรวจสอบได้

ซึ่งถ้าเอาเงื่อนไขเหล่านี้เข้าจับแล้วลองพิจารณาดู ก็จะเห็นว่าการให้รัฐบริหารจัดการเองทั้งหมด หรือ ให้เอกชนบริหารจัดการโดยมีรัฐเข้าร่วมตรวจสอบ แบบไหนจะมีประสิทธิภาพดีกว่ากัน

ส่วนในเรื่องบรรษัทพลังงานแห่งชาตินั้นก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดตั้งครับ ว่าจะจัดตั้งขึ้นเป็นแบบใด
ถ้าจัดตั้งขึ้นมาเป็นองค์กรที่รับมอบทรัพย์สินในแปลงสัมปทานที่จะหมดอายุ แล้วเข้าร่วมทุนกับผู้ประกอบการรายใหม่หรือรายเดิมก็แล้วแต่ หรือจะเข้าร่วมประมูลในแปลงปิโตรลียมที่จะเปิดสำรวจใหม่ก็คงไม่มีปัญหา

แต่ถ้าจะตั้งเป็นบรรษัทพลังงานแห่งชาติตามรูปแบบที่คปพ.เสนอให้กินรวบเบ็ดเสร็จเป็นทั้ง regulator และ operator แถมยังมีอำนาจสารพัด ผมคงรับไม่ได้

กลัวจะเป็นยักษ์ในตะเกียงวิเศษตัวใหม่ครับ !!!

มนูญ ศิริวรรณ
30 มิ.ย. 59

ที่มา มนูญ ศิริวรรณ อธิปไตยและอิสรภาพทางพลังงาน(1)