"อธิปไตยพลังงาน" ....วาทกรรมไร้ความหมาย

ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผ่านมา เราจะได้ยินคำว่า “อธิปไตยพลังงาน” โผล่ขึ้นมามากมายบ่อยครั้งตามสื่อต่างๆ ทั้งสื่อหลักและสื่อ Social Media (ลองพิมพ์คำนี้แล้วเข้าไปหาใน Google ดูสิครับ ท่านหาอ่านได้เป็นสิบๆ หน้าเลยครับ)


ที่มาภาพ: https://thaipublica.org/2016/07/banyong-pongpanich-72/
มีใครเคยฉุกคิดโดยใช้หลัก “กาลามสูตร” ของพระพุทธองค์มาพิจารณากันดูไหมครับ ว่าคำว่า “อธิปไตยพลังงาน” นี่หมายถึงอะไร มีความหมายความสำคัญจริงๆ แค่ไหน หรือเพียงแค่ฟังตามๆ กันมาแล้วก็พูดตามๆ กันไป เพียงเพราะมันเป็นคำที่ฟังดูดี ดูเท่ ดูดุเดือด รักชาติ รักสังคมดี
ผมขอฟันธงก่อนเลยว่า คำ “อธิปไตยพลังงาน” นี้ เป็นคำที่ไร้ความหมาย ไร้สาระ …เป็น “วาทกรรมประดิษฐ์” ที่มีผู้คิดสร้างขึ้น เพื่อชักจูงให้คนเข้าใจไปในทางที่ส่งเสริมแนวคิดทางสังคมนิยมของพวกตน เพื่อสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “บรรษัทพลังงานแห่งชาติ” ที่มีพวกตนเข้าไปมีบทบาทบริหารควบคุม ทั้งๆ ที่แนวคิดนี้กำลังเสื่อมความนิยมลงทั่วโลก เพราะเป็นวิธีการที่ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่มีประสิทธิภาพ ล่อแหลมต่อการทุจริต และทำให้รัฐสุ่มเสี่ยงเกินไปโดยที่ไม่จำเป็น ซึ่งเมื่อถกเถียงกันโดยเหตุผลแล้วไม่สำเร็จ คนกลุ่มนี้ก็เลยไปใช้วิธีปลุกกระแสชาตินิยม กระแสรักชาติ รวมทั้งใช้กลยุทธ์ประชานิยม (ทำให้คนเชื่อว่าจะได้ใช้นำ้มันราคาถูก) มาจูงใจสังคม แล้วก็เลยคิดประดิษฐ์คำเท่ๆ อย่าง “อธิปไตยพลังงาน” ขึ้นมาเพื่อใช้นำปลุกระดมผู้คน

ทำไมผมถึงบังอาจสรุปอย่างนี้ …จะขออธิบายนะครับ

ถ้าไปเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็จะแปลความหมายคำว่า “อธิปไตย” ว่า “อำนาจสูงสุดของรัฐที่จะใช้บังคับบัญชาภายในอาณาเขตของตน” หรือในภาษาอังกฤษก็จะตรงกับคำว่า “Sovereignty” ซึ่งก็มีความหมายตรงกัน คือหมายถึงว่า รัฐใดที่เป็นอิสระย่อมมีอำนาจอธิปไตยเหนือขอบเขตของประเทศตน จะออกกฎหมาย จะบังคับใช้กฎหมายที่ตนมีอยู่ได้ จะใช้ระบอบใดปกครองก็เป็นสิทธิ

การใช้อำนาจอธิปไตยนั้น ย่อมทำได้ภายใต้กฎหมาย ภายใต้รัฏฐาธิปัตย์ของแต่ละประเทศ แต่ทั้งนี้ก็จะต้องคำนึงถึงพันธสัญญาที่ตนมีอยู่ ทั้งกับประเทศต่างๆ หรือกับเอกชนและประชาชน ทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งยังต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันในโลกนี้ด้วย

แต่เอาเข้าจริงก็มีการใช้อำนาจโดยละเมิดพันธะที่ว่าโดยประเทศต่างๆ อยู่เสมอๆ ซึ่งก็ยังสามารถทำได้และมีผลภายในเขตประเทศตน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ย่อมต้องยอมรับผลกระทบที่ตามมา (Consequences) ด้วย เช่น ประเทศอาจออกกฎหมายยึดกิจการบางอย่างของต่างชาติที่อยู่ในเขตแดนเป็นของรัฐ หรืออาจเบี้ยวไม่ยอมรับพันธสัญญาที่ทำไว้ก็ได้ แต่สิ่งที่ตามมาก็อาจทำให้ไม่มีใครมาค้าขายลงทุนด้วยอีก หรืออาจถูกปฏิบัติตอบเยี่ยงเดียวกัน (คือยึดของเราบ้าง) หรือถ้าหนักขึ้นก็อาจจะถูกแซงก์ชัน (Sanction) ซึ่งมีตั้งแต่ระดับอ่อนอย่างการตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้าบางชนิด ไปจนถึงระดับแรง เช่น งดเว้นการค้าขายการลงทุนด้วยเลย หรือถ้าหนักที่สุดก็คือการประกาศสงครามเข้าต่อสู้รุกรานโดยกองทัพกันเลย (มีน้อยครั้งนะครับ และต้องเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ)

จะขอยกตัวอย่างใกล้ๆ ตัวนะครับ …อย่างการที่เราถูกกล่าวหาใน TIP Report ว่าไม่เอาจริงกับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ หรือถูกให้ใบเหลืองจาก IUU เรื่องประมงผิดกฎหมาย อันอาจทำให้ถูกกีดกันการค้า หรืองดนำเข้าอาหารทะเลจากไทย ซึ่งโดย “อำนาจอธิปไตย” เราอาจจะเมินเฉย ด่ากลับ โดยไม่ทำอะไรก็ย่อมได้ แต่ก็ต้องยอมรับผลที่อาจทำให้สินค้าไทยจะขายไม่ออก หรือทำให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลต้องพังพินาศไป ที่เราต้องนั่งมุ่งมั่นแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพราะเราไม่มี “อธิปไตยอาหารทะเล” หรอกนะครับ แต่เพราะเราไม่อยากเผชิญผลกระทบต่างหาก

หรืออีกสักตัวอย่างหนึ่ง การที่ประเทศไทยโดนฟ้องโดยเอกชนในศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศว่าละเมิดสัญญาคุ้มครองการค้าที่ทำกับเยอรมันในกรณีบริษัททางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ แล้วเราแพ้คดี โดนปรับกว่า 30 ล้านยูโร แล้วไม่ยอมจ่าย ทำให้รัฐบาลเยอรมันทำการยึดเครื่องบินพระที่นั่งของสมเด็จพระบรมฯ ที่เข้าไปในเขตประเทศเขาเมื่อปี 2554 จนต้องยอมเอาหนังสือค้ำประกันธนาคารไปแลกเครื่องบินคืนมา ซึ่งถ้าเราเลือกที่จะดื้อดึงใช้อำนาจอธิปไตยตอบโต้ เช่น ยึดทรัพย์รัฐบาลเยอรมัน หรือของเอกชนที่อยู่ในประเทศเราบ้างก็ย่อมทำได้ แต่ก็คงจะส่งผลลุกลามร้ายแรงไปกว่านี้ ซึ่งที่เรายอมไปก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่มี “อธิปไตยทางด่วน” ใดๆ ทั้งสิ้น

ขอกลับมาเรื่อง “อธิปไตยพลังงาน” นะครับ ที่ออกมาตะโกนก้องว่า “เราจะต้องเสียอธิปไตยพลังงาน” ถ้าไม่ทำตามที่พวกท่านเรียกร้อง คือ ถ้าไม่ยึดแหล่งพลังงานมาทำเอง ถ้าไม่ตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมาเป็นเจ้าของและบริหารควบคุม (แล้วตั้งพวกท่านเข้าไปบริหารบรรษัทอีกทีหนึ่ง) ถ้าไม่เปลี่ยนระบบจากที่เคยให้สัมปทานเอกชนไปเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต หรือว่าจ้างผลิต ก็จะถือว่ายกทรัพยากรให้เอกชน ให้ต่างชาติ เพราะว่าน้ำมันจะเป็นของเขา รัฐจะนั่งรอให้เขาเอาไปขายแล้วรอแบ่งเงินค่าภาคหลวงค่าภาษี ไม่ได้มีอำนาจที่จะขนเอาน้ำมันมาเข้าคลัง มาจัดการขายเองเอาเงินเอง (ทำอย่างกับว่ารัฐทำเป็น ทำเก่ง)

หรือกระทั่งบางคนถึงกับกล่าวหาว่า ที่เราใช้ระบบสัมปทานให้เอกชนขุดหาแหล่งพลังงาน โดยรัฐเก็บค่าภาคหลวงและภาษีต่างๆ เป็นตัวเงินในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมานั้น เป็นการที่เราไม่มีอธิปไตยทางพลังงานตลอดมา พอสัมปทานจะครบอายุจึงเป็นเวลาที่จะต้องเอา “อธิปไตยพลังงาน” ที่สูญเสียไปนานกลับคืนมาเสียที โดยการจัดตั้งบรรษัทที่ว่าและเปลี่ยนระบบมาเป็นแบบที่เขาเรียกร้อง

ผมขอบอกเลยว่า ไม่ว่าจะมีบรรษัทที่รัฐเป็นเจ้าของ 100% ลงทุนเอง เสี่ยงเอง บริหารเอง หรือมีรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้นแค่ครึ่งเดียว หรือจะให้เอกชนแข่งขันกันทำทั้ง 100% (เหมือนพวกประเทศพัฒนาแล้วเกือบทุกแห่ง) ไม่ว่าจะใช้ระบบสัมปทาน (Concession) ไม่ว่าจะใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (Product Sharing) หรือจะว่าจ้างผลิต จะเป็นแบบไหนระบบใด ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ “อธิปไตย” หรือ “อำนาจอธิปไตย” ใดๆ ทั้งสิ้น

ประเทศไทย รัฐบาลไทย ศาลไทย รัฐสภาไทย จะยังคงมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนไทยตลอดไป เรายังสามารถออกกฎหมายบังคับใช้กับทุกๆ คนที่ประกอบกิจการในเขตดินแดนไทยได้ทุกอย่าง จะออกกฎหมายยึดคืนในรูปแบบต่างๆ ก็ยังได้เลย (เหมือนอย่างเวเนซุเอลา ประเทศที่เคยเป็นแม่แบบของเหล่านักทวงคืนเคยทำไงครับ แต่เดี๋ยวนี้เวเนฯ เละตุ้มเป๊ะไปแล้ว พวกท่านก็เลยแกล้งลืมไม่พูดถึงอีก) แต่อย่างที่ว่าแหละครับ …ทำไปก็ต้องรับผลกระทบที่ตามมาด้วย

เรื่องของทรัพยากรธรรมชาตินั้น ทั้งตามกฎหมายไทย กฎหมายสากล ส่วนใหญ่นั้นก็เหมือนๆ กัน คือ เป็นสมบัติของรัฐของส่วนรวม แม้อยู่ใต้ที่ดินเรายังไม่ใช่ของเราเลย แต่การที่จัดสรรแบ่งให้เอกชนทำ จะเป็นชาวไทยหรือต่างชาตินั้นก็เพราะเพื่อให้มีประสิทธิภาพ มีเทคโนโลยี รวมทั้งประหยัดทรัพยากรภาครัฐไปทำอย่างอื่นที่จำเป็นกว่า และที่สำคัญ รัฐไม่ต้องรับความเสี่ยงในกิจกรรมที่รู้ชัดๆ ว่ามีความเสี่ยงสูง จะใช้ระบบใดก็ยังถือว่าทรัพยากรนั้นเป็นของรัฐ …อย่างนำ้มันนั้น ถ้ามีเหตุจำเป็น เช่น ยามขาดแคลนจัด หรือยามสงคราม รัฐสามารถบังคับให้เอกชนต้องตั้งสำรองเพิ่มหรือแม้จะให้ส่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดให้รัฐเลยก็ยังทำได้ (ถ้ามีการชดเชยตามสมควรก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติยอมรับได้ด้วยซ้ำ) ทำอะไรอย่างไรก็ไม่เสียอธิปไตยใดๆ ทั้งสิ้น

จะว่าไป …การที่ศาลปกครองสูงสุดออกมาพิพากษาให้ ปตท. ต้องคืนท่อก๊าซบนที่ดินที่ได้มาจากการใช้อำนาจรัฐเวนคืนเมื่อปี 2549 นั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของศาลที่ให้ยึดสมบัติที่ทั้งรัฐบาลผู้ขายหุ้นและนักลงทุนหลายแสนคนผู้ซื้อหุ้นต่างเข้าใจมาตลอดว่ามันเป็นสมบัติของ ปตท. ที่ได้แบ่งขายให้ผู้ถือหุ้นทุกคนร่วมเป็นเจ้าของไปแล้ว การที่ศาลอ้างว่าเป็นไปตามมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 ผมอ่าน ม.24 หลายสิบรอบก็ยังไม่สามารถเห็นด้วยกับศาลเลย …แต่เอาเถอะครับ จะถูกจะผิดอย่างไร ถึงจะไม่เห็นด้วย แต่เนื่องจากศาลท่านเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในเรื่องนี้ เราก็ต้องเคารพและทำตาม และก็พยายามลดผลกระทบโดยการทำให้นักลงทุนเข้าใจ (การที่ผู้บริหาร ปตท. ออกมาประกาศว่าจะเคารพการตัดสินทุกอย่างของศาลก็เป็นเรื่องถูกต้องและสมควรแล้ว เป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว ไม่เห็นน่าตื่นเต้นใดๆ เลย ไม่งั้นท่านก็ต้องย้ายกิจการทั้งหมดไปอยู่ประเทศอื่น …แต่น่าสังเกตว่ากลุ่มผู้ฟ้องกลับไม่ยักเคารพคำตัดสินของศาลแฮะ ได้คืบจะเอาศอกเอาวา ไม่ยอมเลิก จะเอาให้ประเทศพังจนสะใจให้ได้)

ถึงตอนนี้ …ผมก็ขอเรียกร้องว่า จะถกเถียงว่าจะทำอะไร อย่างไร ให้ใครทำ จะตั้งบรรษัทหรือไม่ จะใช้ระบบใด ก็ขอให้ถกกันโดยเหตุโดยผล ยกข้อดีข้อเสียของแต่ละแบบแต่ละระบบมาถกกัน ยกประสบการณ์ของนานาประเทศมาพิจารณา เลิกใช้วาทกรรมประดิษฐ์ไร้ความหมายอย่างคำว่า “อธิปไตยพลังงาน” มาปลุกระดมผู้คนเสียทีเถิดครับ …อย่าดูถูกประชาชนนักเลยครับ

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 19 กรกฎาคม 2559 "อธิปไตยพลังงาน" ....วาทกรรมไร้ความหมาย (19 กรกฎาคม 2559)