อธิปไตยและอิสรภาพทางพลังงาน(2)

ในโพสต์ที่แล้วผมได้วิเคราะห์ถึงคำแถลงคัดค้านของ คปพ.ที่มีต่อร่างแก้ไขพรบ.ปิโตรเลียมฯของกระทรวงพลังงานว่ามีเนื้อหาเน้นหนักอยู่ในสองประเด็นหลัก คือ เรื่องสิทธิในการบริหารจัดการปิโตรเลียมที่ค้นพบและผลิตได้ในประเทศ และเรื่องการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ



เรามาลงในรายละเอียดกันสักหน่อยว่าการได้สิทธิ์ไนการบริหารจัดการปิโตรเลียมเองนั้นจะทำให้เรามีอธิปไตยและอิสรภาพทางพลังงานมากขึ้นหรืออย่างไร

ถ้าพรบ.ปิโตรเลียมบัญญัติไว้อย่างที่คปพ,ต้องการ คือปิดทางเลือกที่รัฐจะมอบให้ผู้ประกอบการสามารถนำเอาปิโตรเลียมที่ค้นพบและผลิตได้ไปขายและแบ่งผลประโยชน์ให้แก่รัฐตามสัญญาในรูปของตัวเงิน รัฐก็จะต้องรับส่วนแบ่งเป็นผลิตภัณฑ์เท่านั้น (ซึ่งร่างพรบ.ที่กระทรวงเสนอ รัฐจะรับส่วนแบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ก็ได้)

เมื่อรัฐรับมาเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้รายได้สูงสุดรัฐก็ต้องนำเอาผลิตภัณฑ์นั้นไปขายในราคาตลาดเพื่อให้ได้เป็นเงินมาเป็นรายได้แผ่นดิน หรือจะแบ่งส่วนหนึ่งเป็นกองทุนเอาไว้อุดหนุนราคาน้ำมัน หรือเอาไว้ใช้จ่ายในโครงการสวัสดิการสังคมต่างๆอย่างที่คปพ.ตั้งเป้าหมายเอาไว้ (จริงๆแล้วมันก็คือเงินก้อนดียวกันกับรายได้จากค่าภาคหลวงและภาษีปิโตรเลียมในปัจจุบันนั่นแหละ เพียงแต่ปัจจุบันเขาเอาเข้าหลวงทั้งหมด แต่ตามพรบ.ปิโตรเลียมของคปพ.จะแบ่งเอาไปตั้งกองทุนเพื่อบริหารเองแบบสสส.)

ถามว่ารัฐจะเอาปิโตรเลียมที่เป็นน้ำมันหรือก๊าซไปกลั่นเองหรือแยกก๊าซเองแล้วนำออกขายให้ประชาชนในราคาถูกๆได้หรือไม่ คำตอบคือทำได้ครับ แต่จะมีความยุ่งยากในการบริหารจัดการเป็นอย่างมาก

ข้อสำคัญปริมาณปิโตรเลียมที่รัฐได้มาก็ไม่เพียงพอที่จะใช้บริโภคภายในประเทศ ต้องนำเข้าอีกมากทั้งก๊าซและน้ำมัน ดังนั้นในทางปฏิบัติจึงไม่มีใครทำกัน แม้แต่ประเทศที่ร่ำรวยจากการส่งออกน้ำมันอย่างในตะวันออกกลาง หรือมาเลเซีย เขาก็เลือกที่จะเอาปิโตรเลียมที่ได้มาไปขายในราคาตลาด แล้วเอาเงินรายได้จากการขายปิโตรเลียมมาอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศ หรือไม่เก็บภาษีจากน้ำมัน จึงทำให้ประเทศเหล่านี้จำหน่ายน้ำมันให้ประชาชนได้ในราคาถูก อย่างที่มีผู้ชอบนำมาอ้างอิงกัน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะรับมาเป็นผลิตภัณฑ์แล้วเอามาบริหารจัดการเอง หรือมอบหมายให้ผู้ประกอบการคู่สัญญาไปบริหารจัดการแทน เป้าหมายสุดท้ายก็เหมือนกันคือ ต้องการให้ได้ตัวเงินที่เป็นรายได้ของประเทศสูงที่สุดด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุด รั่วไหลน้อยที่สุด โปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งทั้งหมดนี้คือเรื่องของประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทั้งสิ้น (Management Efficiency) ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับอธิปไตยหรืออิสรภาพทางพลังงานแม้แต่น้อย เพราะรัฐยังมีอำนาจเต็มที่ที่จะสั่งการหรือให้ความเห็นชอบและตรวจสอบต่อการดำเนินการใดๆของผู้ประกอบการคู่สัญญา และสั่งระงับหรือปฏิเสธการดำเนินการใดๆที่ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ได้

ซึ่งในหลายๆประเทศที่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตก็ใช้หลักการนี้คือไม่ได้รับส่วนแบ่งเป็นผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด แต่ได้มอบหมายให้ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ และมีความเป็นมืออาชีพมากกว่า เป็นผู้บริหารจัดการแทน อย่างเช่นประเทศเมียนมาร์ที่มีผู้ชอบยกตัวอย่างอยู่เสมอๆว่าได้เปลี่ยนจากระบบสัมปทานไปเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตหมดแล้ว ก็ยังคงให้บริษัทปตท.สผ.ที่ไปลงทุนสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติในเมียนมาร์เป็นผู้บริหารจัดการปิโตรเลียมที่ผลิตได้ โดยรัฐคอยรับส่วนแบ่งรายได้เป็นเงินเหมือนเดิม

อย่างนี้จะบอกว่ารัฐบาลเมียนมาร์สูญเสียอธิปไตยและอิสรภาพทางพลังงานให้ไทยใช่หรือไม่
นอกจากวาทกรรมเรื่องนี้ ล่าสุดกลุ่มคปพ.ยังได้มีความพยายามจะลากเอาการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาพัวพันกับเรื่องร่างแก้ไข

พรบ.ปิโตรเลียมในครั้งนี้ โดยพยายามโยงว่าการแก้ไขร่าง
พรบ.ปิโตรเลียมครั้งนี้มีเบื้องหลังเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนจากต่างประเทศ เหมือนกับการร่างพรบ.ปิโตรเลียมในปี 2514 ที่มี CIA อยู่เบื้องหลัง จึงเป็นการเขียนโดยฝรั่ง เพื่อฝรั่ง ฝรั่งร่าง ฝรั่งรวย

ฟังแล้วช่างเป็นวาทกรรมที่ดูถูกคนไทย เห็นคนไทยรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญาเสียนี่กระไร !!!
มนูญ ศิริวรรณ
6 ก.ค. 59

ที่มา มนูญ ศิริวรรณ อธิปไตยและอิสรภาพทางพลังงาน(2)