ระบบสัมปทาน ไม่ได้ทำให้ไทยเสียอธิปไตย แต่พัฒนาทรัพยากรขึ้นมาใช้เต็มที่ สร้างองค์กรของไทย และสร้างรายได้เข้ารัฐมหาศาล

Energy Guru อ่านบทความคุณปานเทพ แห่งเอเอสทีวี หนึ่งในแกนนำ คปพ. เขียนย้ำเรื่องอธิปไตยทางพลังงาน ชวนให้คนเข้าใจผิดว่า รัฐบาลคสช. รัฐมนตรีพลังงาน พลเอก อนันตร กำลังจะทำให้ประเทศสูญเสียความเป็นอธิปไตยทางพลังงานไปอีกครั้ง เพราะไม่ยอมตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เพื่อมาบริหารจัดการกรรมสิทธิ์ ปิโตรเลียม



กลับไปอ่านหน้าเฟซบุค ของคุณธีระชัย อดีตรัฐมนตรีคลัง และแกนนำอีกคน ของ คปพ. ก็ทั้งเขียนทั้งเล่า เรื่องเดียวกันนี้ พร้อมเปิดข้อมูลขุมทรัพย์แหล่งเอราวัณ บงกช ทำนองบริษัทผู้รับสัมปทาน เข้ามากอบโกยทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศ ได้กำไรไปมหาศาล

ควบคู่ไปกับขบวนการล่ารายชื่อมวลชน 10,000 รายชื่อมาเสนอร่างกฏหมายปิโตรเลียมฉบับ คปพ. ที่เอาไปผูกไว้กับเรื่องรับไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวกันได้ ( คงหวังว่าหากปลุกกระแส กฏหมายปิโตรเลียม ได้ มากเท่าไหร่ ฝั่งตัวจะมีอำนาจต่อรองรัฐบาลได้มากขึ้น เรียกว่าเปิดศึกตีขนาบกันเป็นขบวน

ที่จริงถ้าใครฟัง พลเอกอนันตพร ชี้แจงกับสนช. ถึงเหตุผลที่ควรรับร่างแก้ไข พ.ร.บ. ปิโตรเลียม ทั้ง2 ฉบับ ก็ตรงไปตรงมา ไม่ได้มีวาระซ่อนเร้นอะไรเหมือนที่คุณปานเทพอยากจะให้เป็น เพราะพลเอกอนันตพร ก็พูดชัด ว่าต้องการจะเพิ่มทางเลือกเรื่องแบ่งปันผลผลิต มาใช้ในการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียม2แหล่งใหญ่คือเอราวัณ บงกช ที่ใกล้จะหมดอายุ และไม่สามารถต่ออายุสัมปทานได้อีก เพราะเคยต่ออายุไปแล้ว

การไม่ตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมาใหม่ เพราะกระบวนการต่างๆต้องใช้เวลา ใช้งบประมาณ จึงให้คนกลางมาทำหน้าที่ศึกษา ถึงผลดีผลเสีย ที่สำคัญคือรัฐบาลเข้าใจถึงปัญหาวิกฤตพลังงานที่จะเกิดขึ้นหากการผลิตก๊าซจากทั้ง2แหล่งหยุดชะงัก ว่าจะส่งผลรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเพียงใด จึงใช้ความเด็ดขาดในการดำเนินการ เพราะถ้าลงไปเล่นเกมกับ คปพ.ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าใครต้องการอะไร ก็จะเสียเวลาเสียโอกาสของประเทศไปเปล่าๆ

เพราะเรื่องของการสูญเสียอธิปไตยทางพลังงาน ที่คปพ.ย้ำแล้วย้ำอีกกับมวลชนของตนนั้น เป็นแค่เพียงวาทกรรม ไม่ได้เป็นความจริง ระบบสัมปทานที่ประเทศเราใช้มาเกือบ 40 ปี ไม่ได้ทำให้ไทยต้องเป็นเมืองขึ้นใคร รัฐไม่ได้ตกอยู่ใต้อำนาจของบริษัทผู้รับสัมปทาน รายไหนเลย ในทางตรงกันข้าม ระบบสัมปทานปิโตรเลียมนี้ต่างๆ ที่ทำให้เกิดการลงทุนสำรวจผลิตปิโตรเลียม จนสามารถค้นพบแหล่งก๊าซใหม่ๆ และทำให้ไทยเข้าสู่ยุคโชติช่วงชัชวาลย์ มีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ทรัพยากรด้วยอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รัฐสามารถที่จะมีบริษัทปตท ปตท.สผ. มาเป็นมือไม้ แขนขา ที่จะต่อกรกับบริษัทพลังงานข้ามชาติรายใหญ่ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำได้ ดอกผลที่เกิดขึ้น ก็ประจักษ์ชัดอยู่แล้ว ว่า ไทยไม่เคยต้องเสียอธิปไตยทางพลังงาน ตามวาทกรรมที่ คปพ.สร้างขึ้นเพื่อหวังสร้างกระแสแนวร่วมจากกลุ่มคนผู้รักชาติเลย

รูปแบบบรรษัทพลังงานแห่งชาติที่คปพ.พยายาม นำเสนอ นั่นต่างหาก ที่จะเป็นกรงขังความเจริญประเทศ พาทุกอย่างถอยหลัง ตัวอย่างของเวเนซุเอลา ก็ปรากฏให้เห็นอยู่แล้ว คุณปานเทพ ทิ้งท้ายบทความของตัวเอง ทำนองว่า ประวัติศาสตร์จะบันทึกว่าคณะรัฐมนตรีที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์และสนช.เป็นผู้ทำให้ไทยสูญเสียอธิปไตยทางพลังงาน แต่ผู้รู้ในวงการกลับจะมองตรงกันข้ามว่า คณะคสช.และสนช. ชุดนี้ ต่างหากที่เป็นผู้กล้าหาญในการตัดสินใจนำพาประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤตพลังงาน และพยายามที่จะนำทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศ มาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับคนไทยทั้งประเทศ โดยที่ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ให้ยังขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ทิ้งภาระด้านงบประมาณไว้ให้ลูกหลานต้องตามชดใช้ในอนาคต

ที่มา Energy Guru  ระบบสัมปทาน ไม่ได้ทำให้ไทยเสียอธิปไตย แต่พัฒนาทรัพยากรขึ้นมาใช้เต็มที่ สร้างองค์กรของไทย และสร้างรายได้เข้ารัฐมหาศาล