Energy Guru อ่านบทความอาจารย์ ประสาท มีแต้ม ที่ลงในสื่อผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 24 ก.ค.2559 หลังที่แกไปเป็นวิทยากรบนเวที คปพ.ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 23ก.ค หัวข้อจากปิโตรธิปไตยสู่ประชาธิปไตยพลังงาน ก็เห็นว่าอาจารย์แกชอบประดิษฐ์คำ มาเพื่อจูงใจมวลชน แกให้ความหมาย ปิโตรธิปไตย ว่า การครอบงำโลกด้วยปิโตรเลียม พร้อมเขียนความจริงตามความเข้าใจของแก 5ประการ ซึ่งคงจะได้ถกกัน เป็นข้อๆ ดังนี้
ที่มาภาพ https://www.facebook.com/729679307066728/photos/a.731322350235757.1073741828.729679307066728/1221369387897715/?type=3&theater
1.แกบอกว่ายูโนแคลของสหรัฐอเมริกา ไปทำธุรกิจที่อินโดนีเซีย ในปี2504 (ก่อนไทย10ปี ) ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของปิโตรเลียม อุปกรณ์การผลิต การจำหน่ายและปรับเปลี่ยนแผนการผลิต แต่พอยูโนแคลมาลงทุนที่ไทย ไทยกลับใช้ระบบสัมปทานปิโตรเลียม ที่กรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ เป็นของผู้รับสัมปทาน ดังนั้น ที่เขียนในพ.ร.บ.ปิโตรเลียมพ.ศ2514ว่า “ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ” จึงเป็นวาทกรรม แบบเดียวกับเพลง จดหมายผิดซอง เพื่อต้องการจะบอกให้ประชาชนเข้าใจว่า รัฐเป็นเจ้าของแต่ซองจดหมาย แต่จดหมาย(หมายถึงปิโตรเลียม) นั้นเป็นของเอกชนผู้รับสัมปทาน
เรื่องนี้ ถ้าไปอ่านดูประวัติศาสตร์ปิโตรเลียม ก็ต้องบอกว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของฝ่ายนโยบายและข้าราชการระดับสูงของไทยสมัยนั้น ที่ให้ร่างกฏหมายเพื่อนำระบบสัมปทานมาใช้ แบบเดียวกับประเทศผู้ล่าอาณานิคมใช้กัน ซึ่งทำให้รัฐได้ประโยชน์ มากกว่าเพราะรัฐไม่ต้องมารับความเสี่ยง รัฐเป็นเจ้าของปิโตรเลียม แต่ให้สิทธิ์ผู้รับสัมปทานมาดำเนินการแทน ในขณะที่ ระบบแบ่งปันผลผลิต ที่อินโดนีเซียใช้เป็นประเทศแรกค่อนข้างมีปัญหาในทางปฏิบัติ มีการจ่ายใต้โต๊ะ มีคอร์รัปชั่น ด้วยระบบที่เอื้อให้ทำเช่นนั้น เนื่องจากกระบวนการทุกอย่างรัฐเป็นผู้อนุมัติ ไม่จูงใจให้เอกชนปรับลดต้นทุนของตน เพราะมีรัฐมาช่วยแบกรับความเสี่ยง
2.แกบอกว่า แหล่งเอราวัณที่ยูโนแคล(ปัจจุบันเป็นของเชฟรอน)ได้สัมปทานไปนั้น เคยแจ้งกับรัฐว่าจะหมดภายใน17ปี นับแต่วันที่เริ่มเจาะหลุมผลิตเมื่อปี2524 แต่ตอนนี้ผ่านมา35ปี ยังไม่หมด( เพื่อจะบอกว่าปิโตรเลียมไทยนั้นมีเยอะ ที่รัฐบอกว่าจะหมด เหมือนเป็นการขู่ให้กลัว)
ที่จริง ที่มันยังไม่หมด อาจารย์แกน่าจะรู้ดี ว่ามันมีการพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจและผลิต ให้เหมาะกับโครงสร้างทางธรณีวิทยา และเจาะหลุมผลิตใหม่ๆเพิ่มทุกปี ปิโตรเลียมที่อยู่ใต้ดินแบบกระเปาะเล็กๆ กระจัดกระจายที่เดิมคิดว่าจะนำขึ้นมาใช้ไม่ได้ ไม่คุ้มทุน ก็มีความคุ้มทุน ซึ่งต้องยกความดีให้ระบบสัมปทาน ที่จูงใจให้เอกชนต้องพัฒนาเทคโนโลยีและลดต้นทุนของตัวเองให้ต่ำ เพราะ ยิ่งทำให้ต้นทุนต่ำได้เท่าไหร่ ก็มีกำไรเพิ่มขึ้น ในขณะที่ไทย ก็สามารถนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ได้ผลตอบแทนเป็นร่าภาคหลวง ภาษีปิโตรเลียมมากขึ้น
3.อาจารย์แกบอกโดยอ้างข้อมูลกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ว่าบริษัทผู้รับสัมปทานนั้นได้กำไรมากเกินควร คือปี2555 ได้กำไรร้อยละ117 (ราคาน้ำมันอยู่ที่เฉลี่ย98เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล)
ก็ต้องบอกในข้อเท็จจริงที่เป็นสากลทั่วไปไม่เฉพาะประเทศไทยว่า ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม นั้น ความเสี่ยงสูง กำไรสูง ประเด็นก็คือกำไรมาก ก็ต้องแบ่งให้รัฐมาก เพราะ รัฐเก็บภาษีปิโตรเลียมสูงถึงร้อยละ50 (เก็บในสัดส่วนที่สูงกว่าธุรกิจอื่นๆ) ที่จริงปีที่ได้กำไรน้อย หรือขาดทุนก็มี คือปีที่ราคาน้ำมันตกต่ำอย่างปี2558แต่อาจารย์แกเลือกหยิบมาเฉพาะปีที่กำไรดี และเลือกมาเฉพาะบางบริษัท แต่ไม่ได้ยกตัวอย่างบริษัทที่เข้ามาลงทุนแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เพราะสำรวจไม่เจอ แล้วต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน
4.แกบอกว่าราคาก๊าซพม่า ที่ขายให้ไทยลดลง แต่ราคาค่าไฟฟ้าในประเทศไทย ไม่ลดลงเลย
ข้อนี้ เป็นความเข้าใจที่ผิดไปเลย ความจริงคือราคาค่าไฟฟ้าในส่วนของเอฟที มีการปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องในแต่ละงวด แต่จะลดลงช้ากว่าราคาน้ำมันที่ปรับลดลง เพราะสูตรราคาก๊าซนั้นผูกติดกับราคาน้ำมันย้อนหลังไปประมาณ6-12เดือน คือ น้ำมันลดลงวันนี้ อีก6-12เดือน ราคาก๊าซจึงจะลดลงตาม และการปรับลดลงก็ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆด้วยเช่น อัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งลดลงในสัดส่วนที่ไม่เท่ากับราคาน้ำมันที่ลดลง หรือราคาก๊าซจากพม่าที่ลดลง เพราะ การผลิตไฟฟ้าของไทย ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงประมาณเกือบร้อยละ70 และส่วนใหญ่ เป็นก๊าซจากอ่าวไทย ก๊าซจากพม่า คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20เท่านั้น นอกจากนี้ ก๊าซจากพม่า กับก๊าซจากอ่าวไทย ก็มีสูตรราคาที่อ้างอิงราคาน้ำมันที่ต่างกัน การปรับลดลง จึงไม่เท่ากัน
5.แกบอกว่ารัฐขู่ว่าไฟจะดับ ถ้าไม่ต่ออายุสัมปทานเอราวัณและบงกช ที่จริงอาจารย์แกก็รู้ว่า
สัมปทานเอราวัณและบงกช นั้น หมดอายุสัมปทานคราวนี้แล้ว ต่ออายุไม่ได้ แต่ต้องเป็นการทำสัญญาใหม่ เงื่อนไขใหม่ ส่วนจะเป็นระบบแบบใด ใครจะได้มาบริหารจัดการ ก็อยู่ที่ขั้นตอนการประมูลคัดเลือกตามมติกพช. และถ้าการผลิตไม่ต่อเนื่อง รัฐก็ไม่ได้บอกว่า ไฟฟ้าจะดับ แต่บอกว่าไฟฟ้าจะแพง เพราะ ต้องนำเข้าแอลเอ็นจี ที่มีราคาแพงกว่าก๊าซในอ่าวไทย เข้ามาใช้ทดแทน ส่วนข้อเสนออาจารย์ที่ให้ส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อป มาแทนไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซนั้น ก็ต้องบอกว่า ถ้าติดตั้งจริง เวลา กลางคืน ไม่มีแสงอาทิตย์ เราจะเอาไฟฟ้าจากไหนมาใช้ เพราะระบบแบตเตอรี่กักเก็บไฟฟ้าแพงมาก จำเป็นที่รัฐจะต้องลงทุนโรงไฟฟ้าที่ใช้ฟอสซิลมาแบ็คอัพให้อยู่ดี ข้อนี้อยากจะบอกว่า โซลาร์รูฟท็อบ ถ้าติดตั้งเพื่อไม่ขายไฟเข้าระบบ นั้นทำได้ หรือถ้าจะขาย ก็ต้องขายในราคาต้นทุนที่ไม่มีการอุดหนุน ซึ่งต้องต่ำกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะถ้ายังมีการอุดหนุน ยิ่งทำมาก ค่าไฟก็ยิ่งแพง ประชาธิปไตยพลังงานที่อาจารย์แกหมายถึงว่าทุกครัวเรือนมีสิทธิ์ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ขายเข้าระบบ จึงยิ่งเป็นการซ้ำเติมต้นทุนพลังงานของประเทศ
เขียนถกกับอาจารย์แกเสียยาว หวังว่าคงจะอ่านกันจนถึงบรรทัดสุดท้าย ส่วนจะคิดเห็นกันอย่างไรก็อยู่ที่ดุลยพินิจของแต่ละท่านก็แล้วกัน