ม. 178 ฉบับรัฐธรรมนูญ 59 ทำให้ไทยเสียดินแดนจริงหรือ?

มีกลุ่มที่คัดค้านการเมือง รวมไปถึง โยงเอาพลังงานเข้าไปโจมตีเรื่อง ม. 178 ฉบับรัฐธรรมนูญ 59
ว่าทำให้ไทยเสียดินแดนนั้น จะทำให้ไทยเสียดินแดนจริงหรือไม่ เราลองมาอ่านกัน ว่าต่างจากเดิม ปี 50 อย่างไร ทำให้ไทยเสียดินแดนจริงหรือ?



มาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ 59 เนื้อหาก็คล้ายคลึงกับมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญปี 50 เป็นเรื่อง "การทำสนธิสัญญา" ซึ่งในมาตรา 190 เขียนเอาไว้ไม่รัดกุม รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงเขียนแก้ไขให้ครบถ้วนรัดกุมยิ่งขึ้น

โดย มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ปี 50 วรรคสองเขียนไว้ว่า
"หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่ง ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคง ทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ อย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว"
คำว่า "งบประมาณของประเทศ" จะหมายถึงสนธิสัญญาอะไร? ถ้าเป็นการลงทุนโครงการใหญ่ๆ ที่ต้องใช้งบประมาณสูง สัญญาจ้างงานถือเป็นสนธิสัญญาด้วยหรือไม่? และไม่บัญญัติไว้ว่า ถ้าพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน จะทำอย่างไรกันต่อ.!! รัฐธรรมนูญใหม่ จึงกำหนดไว้ให้ชัดเจนว่า

"ในการนี้ รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ"

ในวรรคที่สามของมาตรา 190 เขียนว่า
"ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ ตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้อง ชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอ กรอบการเจรจาต่อรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบด้วย"
วรรคนี้มีความคลุมเครือ และสุ่มเสี่ยง การกำหนดให้ต้องเปิดเผยข้อมูล และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อสภาฯ โดยมิได้แยกประเภทของสนธิสัญญาให้ชัดเจน อาจหมายรวมถึงสนธิสัญญาทุกประเภท ซึ่งบางสนธิสัญญาอาจเป็นข้อตกลงที่เป็น "ความลับ" ระหว่างประเทศภาคีในสนธิสัญญา หากเปิดเผยออกไปอาจมีผลกระทบต่อผลได้ผลเสียกับประเทศ เช่น ข้อตกลงทางการค้าที่เป็นกรณีพิเศษ ประเทศคู่แข่งก็จะรู้ความเคลื่อนไหวทั้งหมด อีกทั้งการให้ประชาชนต้องมามีส่วนร่วม ก็เป็นการซ้ำซ้อนกับการตรวจสอบของสภา ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนอยู่แล้ว มาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญใหม่จึงตัดส่วนนี้ออกไป

ในวรรคที่สี่ของมาตรา 190 ก็ยังย้อนมาตรวจสอบกันอีก "หลังลงนาม" ในสนธิสัญญาแล้ว
"เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และในกรณีที่การปฏิบัติ ตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม"
ก่อนลงนามก็ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาฯก่อน หลังลงนามก็ต้องมาต้องมาเปิดเผยข้อมูลรายละเอียด ในสนธิสัญญาอีก "ก่อน" ที่จะให้มีผลผูกพัน มันซ้ำซ้อน ยอกย้อน และไม่เห็นประโยชน์อะไรที่ต้องให้มีขั้นตอนมากมายซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ในวรรคที่ห้า เขียนว่า ให้มีกฎหมายว่าด้วยการทำสนธิสัญญา
"ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบ ต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า หรือการลงทุน อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตาม หนังสือสัญญาดังกล่าวโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป"
จนป่านนี้ก็ยังไม่มีกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งสาระสำคัญของวรรคที่ห้า คือการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำสนธิสัญญามากกว่า ในรัฐธรรมนูญใหม่ จึงกำหนดให้มีกฎหมาย "กำหนดวิธีการ" ที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาตามวรรคสามด้วย ไม่ต้องไปออกกฎหมายว่าด้วยขั้นตอนและวิธีการจัดทำสนธิสัญญา เอาผลกระทบของประชาชนมาว่ากันให้ชัด

ส่วนวรรคท้ายก็เขียนไว้คล้ายกัน แต่เขียนชัดเจนว่า "เมื่อมีปัญหาว่าหนังสือสัญญาใดเป็นกรณีตามวรรคสองหรือวรรคสามหรือไม่ คณะรัฐมนตรีจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้ ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ" โดยในมาตรา 190 ไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จเมื่อใด แค่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ดังนี้
"ในกรณีที่มีปัญหาตามวรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด โดยให้นำบทบัญญัติตามมาตรา ๑๕๔ (๑) มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม"
แค่มาตราเดียว ก็อธิบายกันยาวจนเบื่อที่จะอ่าน แต่ปล่อยผ่านไปไม่ได้ พวกจ้องบิดเบือนมันเยอะ เจตนารมณ์ดีๆ เอามาตัดทอนจนไปคนละความหมาย หาว่ากฎหมาย กกต.ปิดปากประชาชน เพื่อฮุบกินสมบัติของชาติ ใครมันจะอยู่ค้ำฟ้า รัฐบาลมันก็เปลี่ยนหน้ากันไป ผลประโยชน์อะไรที่มโนกัน

ถ้าแน่ใจว่าไม่พูดบิดเบือน ก็กล้าๆแสดงความเห็นเยี่ยงปัญญาชนสิครับ จะกลัว มาตรา 61 ไปทำไม ทำอะไรแบบพวก "ปัญญา(วัว)ชน" มันโชว์พลังความโง่ชัดๆ.!!!

ที่มา nobody06 ม. 178 ฉบับรัฐธรรมนูญ 59 ทำให้ไทยเสียดินแดนจริงหรือ?