การประมูลแปลงสัมปทานปิโตรเลียม...กับ คลื่นความถี่

การประมูลแปลงสัมปทานปิโตรเลียม... สัมปทานปิโตรเลียม ต่างจากสัมปทานอื่นๆ เช่น สัมปทานคลื่นความถี่ สัมปทานป่าไม้ สัมปทานเดินรถ เป็นต้น ต่างกันตรงการมีอยู่ของตัว “ทรัพยากร” ที่รัฐให้สิทธิเอกชนไปลงทุนและบริหารจัดการทรัพยากร นั้น (คลื่น ป่าไม้ และ เส้นทางเดินรถ) แทนรัฐ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ผลกำไรที่เกิดขึ้นก็จะนำมาแบ่งกัน ระหว่างรัฐกับเอกชน การคัดเลือกเอกชน จึงทำได้โดยการแข่งขันเสนอผลประโยชน์ให้รัฐ ใครเสนอให้รัฐมากกว่าก็ชนะการประมูลได้สัมปทานบวกทรัพยากรไปบริหารจัดการ



สัมปทานปิโตรเลียม ออกให้เพื่อ “การลงทุนสำรวจหาทรัพยากร” รัฐไม่ได้รับประกันว่าจะมีปิโตรเลียมอยู่ภายในแปลงสัมปทานนั้น เอกชนต้องลงทุนสำรวจหาให้พบเองโดยแบกรับความเสียงฝ่ายเดียว ถ้าไม่พบก็คืนแปลงกลับคืนให้รัฐพร้อมข้อมูลการสำรวจ (รัฐได้รับผลการสำรวจและข้อมูลดิบมาแบบฟรีๆ แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่ม ที่เรียกร้องให้รัฐเสียเงินลงทุนสำรวจเอง) สัมปทานก็สิ้นสุดลง ไม่มีผลประโยชน์ ไม่มีรายได้เกิดขึ้น การแข่งขันเสนอรายได้ให้รัฐในปริมาณมากๆ ก็ไร้ประโยชน์ถ้าสำรวจไม่พบ ความสำคัญจึงอยู่ที่ผลการสำรวจมากกว่า ซึ่งวัดได้จากปริมาณงานและปริมาณเงินลงทุนสำรวจ ยิ่งมาก ยิ่งดี ยิ่งมีโอกาสสำรวจพบปิโตรเลียมมากขึ้น และในกรณีสำรวจพบมีการพัฒนา ผลิตปิโตรเลียมขึ้นมา มีรายได้ รัฐสามารถควบคุมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรภายในประเทศได้ และแบ่งผลประโยชน์จากมูลค่าปิโตรเลียมนั้น ตามที่ระบุไว้ในกฎหมายอย่างเหมาะสมเป็นธรรม บังคับใช้กับเอกชนทุกราย ทุกแปลงสำรวจ ไม่ต้องเจรจาต่อรองใดๆ จึงไม่ต้องการอำนาจในการต่อรองผลประโยชน์ ลดช่องทางทุจริต แต่ยังคงไว้ซึ่งอำนาจในการกำกับดูและควบคุมอย่างใกล้ชิดในการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามข้อกฎหมายและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ

การคัดเลือกเอกชน จึงต้องทำการแข่งขัน โดยดูที่ปริมาณงานและปริมาณเงินลงทุนสำรวจ เพราะแสดงถึงศักยภาพ ความสามารถ ความพร้อม และความตั้งใจ ในการสำรวจหาปิโตรเลียมของเอกชนแต่ละราย ประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบบสัมปทาน ก็ใช้วิธีนี้ในการคัดเลือกเอกชน เช่น ประเทศแคนาดา เป็นต้น จึงไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ หรือ ปล่อยให้ผูกขาด

ถ้าเกรงว่า จะมีพวกมามั่วหรือนายหน้า เสนอปริมาณงานและเงินลงทุนมามากๆ เพื่อหวังผลชนะ แล้วจะเอาไปขายทอดตลาด เปลี่ยนมือทำกำไร ต้องขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปริมาณเงินลงทุนจะแปรผันตามปริมาณงานและจำนวนที่เสนอแข่งขันเข้ามาในช่วง 3 ปีแรก จะกลายเป็นข้อผูกพันตามสัญญาสัมปทานที่ต้องปฏิบัติตาม และต้องให้เงินประกันไว้กับรัฐด้วย ถ้าไม่ทำตามข้อผูกพันหรือทำงานไม่ครบจะถูกริบเงินประกัน ดังนั้นไม่ต้่องห่วงเรื่องการเบี้ยวงาน ส่วนการขายทอดตลาด เปลี่ยนมือ เปลี่ยนผู้ร่วมลงทุน ไปจนถึงเปลี่ยนผู้รับสัมปทาน สามารถทำได้ ตามข้อกฎหมาย ถ้าเป็นการระดมทุน แต่ไม่เห็นว่าจะทำได้ง่าย โดยเฉพาะขายเพื่อทำกำไร เพราะแปลงสัมปทานในช่วงสำรวจมีแต่ต้องเสียเงินลงทุน ไม่รู้ว่าจะพบหรือไม่ มีความเสี่ยงสูง แต่ถึงอย่างไรถ้ามีการเปลี่ยนแปลงผู้ลงทุน ก็ต้องไม่กระทบต่อสัญญาที่ทำไว้กับรัฐ และต้องได้รับการอนุมัติจากภาครัฐก่อนด้วย

ขั้นตอน วิธีการ...
การออกสัมปทานปิโตรเลียม ดำเนินการโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จะเป็นผู้กำหนดขอบเขต พื้นที่แปลงสำรวจ ซึ่งพิจารณาจากผลการศึกษาข้อมูลการสำรวจของแปลงสัมปทานเดิมที่เคยออกสัมปทานไปในหลายๆรอบที่ผ่านมา พื้นที่ใดมีโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่น่าสนใจ พอที่จะมีศักยภาพปิโตรเลียม น่าจะต้องเจาะลงไปพิสูจน์ทราบว่ามีปิโตรเลียมอยู่หรือไม่(ชั้นตอนนี้ใช้เงินลงทุนสูงมาก รัฐไม่ควรเสี่ยงเจาะเอง) ก็จะกำหนดขอบเขต ตีแปลงให้ครอบคลุม ออกมาเป็นพื้นที่แปลงสำรวจ และนำออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้น ก็จะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เปิดประมูลให้เอกชนเข้ามายื่นซอง และจะคัดเลือก หาผู้ชนะ และนำเสนอผ่านคณะกรรมการปิโตรเลียม รัฐมนตรี และ คณะรัฐมนตรี. เพื่ออนุมัติ และออกสัมปทานปิโตรเลียมต่อไป(ตามภาพด้านบน)

ในกรณีผู้ประมูลไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของแปลงใด และเพื่อให้เกิดการสำรวจในแปลงนั้น หน่วยงานรัฐอาจเรียกผู้ประมูลมารับข้อเสนอปรับเพิ่มปริมาณงานและปริมาณเงินลงทุน ให้ได้ขั้นต่ำ ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก็สามารถทำได้ แต่ไม่ใช่เป็นการเจรจาต่อรองใดๆ ถ้าผู้ประมูลยอมรับเกณฑ์ขั้นต่ำ ก็จะผ่าน ได้เป็นผู้รับสัมปทาน ก็จะสามารถทำการสำรวจในแปลงนั้นได้ เป็นผลดีต่อประเทศ ดีกว่าปล่อยให้เวลาผ่านไป แล้วนำมาเปิดใหม่ในรอบต่อมาซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกหลายปี

บริษัทน้ำมันทั้งในและต่างประเทศที่มีคุณสมบัติ หรือ กลุ่มคนที่สนใจ ก็ขอเชิญชวนให้เตรียมตัวเข้ามายื่นซองประมูลได้แล้วนะครับ ใกล้เวลาที่สัมปทานรอบที่ 21 จะกลับมาแล้ว หลังจากต้องหยุดชะงักไป 3 เดือน เพื่อรอการตัดสินใจของรัฐบาล ช่วยๆ กันครับ สำหรับคนไทยที่พอจะมีเงิน มาช่วยกันเอาแปลงสัมปทานไปสำรวจ เอาไปทำเอง เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงดีกว่านั่งคิดนึกทึกทักกันไปเอง และอย่าปล่อยให้กลุ่มทุนต่างชาติมาประมูลไปฝ่ายเดียวนะครับ เดี๋ยวจะมีคำครหาตามมาอีกว่า รัฐยกสมบัติให้พวกเขาไปหมดแล้ว...

สำหรับกลุ่มคนที่เรียกร้อง ระบบแบ่งปันผลผลิต คาดว่า รัฐจะแก้กฎหมายเปิดทางให้ ....แต่ อย่างไรเสีย การบังคับใช้คงยังไม่เรียบร้อย ยังไม่พร้อม ต้องใช้เวลาอีกระยะ และถ้าจะต้องเลือกบางแปลงในทะเลอ่วไทยตามกระแสเรียกร้องก่อนหน้า มาทดลองระบบดังกล่าวนี้ ...เกรงว่าจะเสียของเปล่านะครับ ......

ตัวอย่างสัญญาสัมปทาน อ่านเพิ่มเติม ไขข้อข้องใจ...สัญญาสัมปทานปิโตรเลียม