บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ : ฤาจะเป็นผู้ร้ายในคราบพระเอก???

การพิจารณารายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514


โดยมีข้อเสนอที่สำคัญคือ การให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Company) ให้มีฐานะเป็นตัวแทนของรัฐ ดำเนินการเกี่ยวกับการให้สิทธิ การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างเบ็ดเสร็จและครบวงจร คณะกรรมาธิการได้เสนอให้มีการตรากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ ให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นผู้มีสิทธิเพียงรายเดียวในการสำรวจและให้สิทธิเกี่ยวกับปิโตรเลียม ในการดำเนินการบริหารจัดการปิโตรเลียมและการบังคับบริษัทเอกชนในฐานะคู่สัญญา

นอกจากนั้นยังกำหนดให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติมีสภาพนิติบุคคลและมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เพื่อให้การบริหารจัดการสัญญาที่เกี่ยวกับปิโตรเลียมไม่อยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการพัสดุของส่วนราชการ หรือกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ

บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ จะเป็นผู้ถือสิทธิทรัพยากรปิโตรเลียมแทนรัฐในการสำรวจและแสวงหาประโยชน์จากปิโตรเลียม ควบคุมดูแลระบบการสำรวจและแสวงหาประโยชน์ในปิโตรเลียมทั้งหลาย และมีหน้าที่ในการบริหารสัญญาสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาจ้างผลิต

หากพิจารณาตามข้อเสนอดังกล่าว จะเห็นได้ว่าได้มีการรวมเอาบทบาทของทางราชการในฐานะผู้ให้สิทธิการสำรวจ ผู้กำกับดูแล และผู้ปฏิบัติการเอาไว้ในองค์กรเดียวกัน ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาลและการจัดการที่ดี นอกจากนั้นองค์กรดังกล่าวยังเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติเป็นจำนวนเงินมากมายมหาศาล ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท


ที่มาภาพ น้องปอสาม

คำถามคือ การบริหารจัดการองค์กรดำเนินการอย่างไร โดยใคร ตรวจสอบอย่างไร มีความโปร่งใสแค่ไหน ที่มาของผู้บริหารเป็นอย่างไร ประสิทธิภาพขององค์กรจะวัดกันอย่างไร รายงานต่อใครและรับผิดชอบต่อใคร

ซึ่งผมเชื่อว่าในประวัติศาสตร์ของการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐ องค์กรที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในตัวเองมากขนาดนี้ ใหญ่โตขนาดนี้ มีผลประโยชน์มากมายขนาดนี้ น่าจะยังไม่เคยมีมาก่อน และไม่น่าเชื่อว่าจะบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นี่พูดกันแค่เรื่องของการบริหารจัดการองค์กรเท่านั้นนะครับ ยังไม่ได้พูดกันถึงเรื่องของหลักการว่า การมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติมาดูแลการจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมของชาติเบ็ดเสร็จแบบนี้เป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่

จะทำให้เสียบรรยากาศการลงทุนและเกิดการผูกขาดโดยภาครัฐหรือไม่
ซึ่งในหลายประเทศพบว่า บรรษัทน้ำมันแห่งชาติบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ ประสบความล้มเหลว และเป็นบ่อเกิดของการคอร์รัปชัน

ดังนั้น ผมจึงวิตกว่าคณะกรรมาธิการพลังงาน สนช. กำลังจะเสนอให้มียักษ์ในตะเกียงวิเศษตัวใหม่ขึ้นมา ซึ่งถ้าบริหารหรือควบคุมไม่ดีก็จะสร้างปัญหาและผลเสียอย่างมหาศาลให้กับวงการพลังงานของประเทศ

จึงอยากเตือนให้ระวังให้ดี เพราะถ้าเผลอปล่อยยักษ์ตัวนี้ออกจากตะเกียงเมื่อไร แล้วมันไม่ยอมกลับเข้าไป

จะมาหาว่าผมไม่เตือนไม่ได้นะครับ!!!.

อ่านต่อได้ที่ : http://www.ryt9.com/s/tpd/2188059